• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

พบพืชชนิดใหม่ของโลก ‘ดาราพิลาส’ สกุลเดียวกับกำลังเจ็ดช้างสาร ในพื้นที่ อช.น้ำตกหงาว

วันที่ 9 ตุลาคม 2564 นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2563 กลุ่มงานวิชาการ ได้ออกสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพป่าไม้ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร

โดยขณะสำรวจ ได้พบกลุ่มประชากรของไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะดอกสีขาวสวยงาม แต่ยังไม่สามารถระบุชนิดได้ บริเวณใกล้แนวเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ต.หงาว อ.เมือง จ.ระนอง เบื้องต้นจำแนกได้เป็นพืชชนิดหนึ่งในสกุลกำลังเจ็ดช้างสาร (Lasianthus Jack) วงศ์เข็ม หรือวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) แต่พบตัวอย่างดอกบานแค่ดอกเดียวและกำลังจะหลุดร่วงไป ซึ่งไม่เพียงพอต่อการนำไปวิเคราะห์ตรวจสอบเพื่อจำแนกชนิดว่าเป็นพืชชนิดใด ต่อมาในปลายเดือนกรกฎาคม 2563 จึงได้มาตามเก็บตัวอย่างอีกครั้ง ปรากฏว่าพบแต่เพียงผลอ่อน จึงยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ในการเก็บตัวอย่าง เพื่อศึกษาพืชในสกุลนี้ เนื่อกจากจำเป็นต้องใช้โครงสร้างดอกที่สมบูรณ์และบานเต็มที่ ในจำนวนที่มากพอสมควรเพื่อใช้ในการวิเคราะห์จำแนกชนิด


นายอรุณ สินบำรุง กล่าวว่า ต่อมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 จึงได้ไปตามเก็บตัวอย่างดอกอีกครั้ง ซึ่งการไปตามในครั้งนี้ สามารถเก็บตัวอย่างใบและดอกบานที่สมบูรณ์ได้มากพอสมควร จึงได้จัดส่งตัวอย่างไปยังหอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยได้ประสานงานและร่วมตรวจสอบข้อมูลกับ นายมานพ ผู้พัฒน์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์จากหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และได้ทราบว่า ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลนี้ ซึ่งท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำโครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย ( Flora of Thailand) ในวงศ์เข็มหรือวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) โดยรับผิดชอบในสกุลกำลังเจ็ดช้างสาร (Lasianthus Jack)

นายอรุณ​ สินบำรุง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ต่อมา ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ ได้เข้าไปตรวจสอบตัวอย่างที่หอพรรณไม้ (BKF) รวมทั้งได้วิเคราะห์ตัวอย่างที่ห้องปฏิบัติการทางชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วพบว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก จึงทำการตั้งชื่อและเขียนคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ ตามกฎนานาชาติของการกำหนดชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช (ICN) และส่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพด้านชีววิทยาพืช PeerJ (Section Plant biology) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการร่วมตีพิมพ์โดยบุคลากรจาก 2 หน่วยงาน คือ ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ นายอรุณ สินบำรุง และ นายมานพ ผู้พัฒน์ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดร.ทิวธวัฒ นาพิรุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายมานพ ผู้พัฒน์ จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดาราพิลาส (Cute Star Flower) ชื่อไทยที่ตั้งตามลักษณะของดอกไม้ที่คล้ายดวงดาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lasianthus ranongensis Sinbumroong & Napiroon คำระบุชนิด ranongensis ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ จ.ระนอง (Ranong) พื้นที่แหล่งพันธุกรรมของพืชชนิดนี้

ดาราพิลาส เป็นหนึ่งในสมาชิกพืชสกุลกำลังเจ็ดช้างสาร วงศ์เข็ม หรือวงศ์กาแฟ (Rubiaceae) หลายชนิดในสกุลนี้เป็นพืชป่าสมุนไพรที่อุดมไปด้วยสารสำคัญทางพฤกษเคมีที่มีความโดดเด่น เช่น สารสโคโปเลตินที่พบในปริมาณสูง สำหรับชนิดที่พบเป็นชนิดใหม่นี้มีลักษณะดอกสวยงามคล้ายดวงดาวที่มี 6 หรือ 7 แฉกบานเปล่งประกายอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามันของไทย หากพิจารณาจากจำนวนกลีบดอกตามหลักชีววิทยาของพืชหรือพฤกษศาสตร์ พืชชนิดนี้อาจดูผิดแผกจากลักษณะของจำนวนกลีบดอกที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ 4-5 กลีบดอก หรือเป็นทวีคูณของจำนวนดังกล่าวตามลักษณะพืชใบเลี้ยงคู่ทั่วไป ที่อาจไม่พบอยู่ในหนังสือหรือตำรา แต่ปรากฏให้เห็นอยู่ในป่าเขตร้อนของไทย
พืชชนิดใหม่นี้มีลักษณะของส่วนสืบพันธุ์ที่แตกต่างจากชนิดใกล้เคียงภายในสกุลเดียวกันอย่างชัดเจน รวมถึงส่วนประกอบอื่นๆ ของพืช เช่น ลักษณะรูปใบ สิ่งปกคลุมพื้นผิวกลีบดอกแบบขนสายสร้อยลูกปัด กลีบเลี้ยง ลักษณะรูปทรงหูใบ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะที่มีการควบคุมโดยพันธุกรรม และบ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นชนิดได้เป็นอย่างดีในทางชีววิทยาวิวัฒนาการและพฤกษศาสตร์

ทั้งนี้ นายอรุณ สินบำรุง ผู้ศึกษาวิจัยฯ พืชชนิดใหม่ครั้งนี้ มีแนวคิดที่จะร่วมมือกับผู้ดูแลพื้นที่ ในการพยายามช่วยเพิ่มจำนวน โดยอาจใช้เทคโนโลยีชีวภาพพืชเข้าไปส่งเสริม เนื่องจากพืชชนิดนี้มีขนาดกลุ่มประชากรขนาดเล็ก มีถิ่นอาศัยที่มีความจำเพาะ จึงอาจมีความเปราะบางหรือสุ่มเสี่ยงต่อการลดลงของจำนวนประชากรได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด