2 กรกฎาคม 2568 ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปวงการสัตว์ป่าครั้งสำคัญ มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน โดยมีวาระเร่งด่วนในการผลักดัน “เหี้ย” สู่การเป็นสัตว์เศรษฐกิจเต็มตัว และเร่งศึกษา “นกกรงหัวจุก” ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เลี้ยงนก เพื่อผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจคู่กับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายเฉลิม พุ่มไม้ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อพิจารณาวาระรวม 13 เรื่อง ภายใต้กฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
หนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ การเร่งดำเนินการหลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ให้ “เหี้ย” (Varanus salvator) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้อย่างเป็นทางการ นำมาสู่การเสนอคณะกรรมการฯ เพื่อกำหนดราคาพ่อ-แม่พันธุ์ เพื่อเปิดทางให้เกิดการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ และเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการประกาศเพิ่ม “วาฬสีน้ำเงิน” และ “นกชนหิน” เป็นสัตว์ป่าสงวน 2 ชนิดใหม่ เข้าสู่บัญชีคุ้มครองพิเศษ เพื่อยกระดับมาตรการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากของไทยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น
สำหรับ “นกปรอดหัวโขน” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “นกกรงหัวจุก” ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เลี้ยงนก ทส. ได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณาด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมวิถีชีวิตและอาชีพของประชาชน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน โดยเห็นชอบในหลักการปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้การศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จึงให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาประชากรนกปรอดหัวโขนตลอดกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ และมาตรการป้องกันนกปรอดหัวโขนในกรงเลี้ยงหลุดเข้าสู่ธรรมชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปประกอบการเสนอปลดนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าของชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประชาชนอย่างยั่งยืน
และเพื่อเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่ประชุมจึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ด้าน เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองประเด็นต่างๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการหลักพิจารณา ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การประชุมยังได้พิจารณาการปรับแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ และการจัดการระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนกแอ่น ที่เชื่อมโยงกับการสัมปทานรังนกและกิจการบ้านนกแอ่น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
นโยบายการปฏิรูปสัตว์ป่าของ ทส. ในครั้งนี้ สะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการสร้างสมดุลใหม่ระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้จากสัตว์ที่เคยถูกจำกัดด้วยกฎหมายอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ได้อย่างยั่งยืน คาดการณ์ว่าหากนโยบายเหล่านี้ประสบความสำเร็จ จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมทั้งสร้างรายได้เข้าประเทศในระยะยาว.