• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงกรณี “เหี้ย” สัตว์ป่าคุ้มครองเพาะพันธุ์ได้ ไม่ใช่ใครก็เลี้ยงได้ ต้องขออนุญาตและตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น!

3 ก.ค. 68 นายอรรถพล​ เจริญชันษา​ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า​ และพันธุ์พืช​ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ “เหี้ย” (Varanus salvator) ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่สามารถเพาะพันธุ์ได้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น ขอเรียนชี้แจงและทำความเข้าใจแก่ประชาชนทุกท่านว่า “การเปลี่ยนแปลงสถานะดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปจะสามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือเพาะพันธุ์เหี้ยได้ทันทีโดยไม่มีข้อกำหนด และไม่ไช่เหี้ยที่อยู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นเหี้ยที่อยู่ที่สถานีเพาะเลี้ยงที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตนำไปเพาะขยายพันธุ์เท่านั้น”

จากนโยบายดังกล่าว สืบเนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเหี้ยในการเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศ จึงได้มีการเร่งดำเนินการในหลายส่วน หนึ่งในนั้นคือการที่คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบ การกำหนดราคาสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ (เหี้ย) ซึ่งจะนำไปสู่การออกระเบียบว่าด้วยการกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าบริการ หรือค่าตอบแทน และราคาสัตว์ป่า เพื่อเพิ่มรายการเหี้ยไว้ในบัญชีดังกล่าว และจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

ใครบ้างที่สามารถเพาะพันธุ์เหี้ยได้?​ เน้นย้ำว่า การเพาะพันธุ์เหี้ยเพื่อการค้าหรือเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เท่านั้น โดยผู้ที่สามารถดำเนินการได้คือ ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กรมฯ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

เงื่อนไขสำหรับผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเพาะพันธุ์มีดังนี้​ ผู้ขออนุญาตเพาะพันธุ์ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครอง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะทำการเพาะเลี้ยงหรือได้รับการยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น และต้องไม่มีประวัติเคยต้องโทษคดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562​ ในส่วนของพ่อแม่พันธุ์ ไม่สามารถจับได้เองจากธรรมชาติ​ เนื่องจากเหี้ยยังมีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จำเป็นต้องซื้อจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่านั้น และหลังจากมีผู้ได้รับอนุญาตเพาะพันธุ์และมีสัตว์ที่ได้จากการเพาะพันธุ์แล้ว ผู้ขออนุญาตจึงจะสามารถซื้อจากสถานที่เพาะพันธุ์ที่ได้รับอนุญาตนั้นได้

นอกจากนี้ เหี้ยที่ได้จากการเพาะพันธุ์ทุกตัวต้องมีการทำเครื่องหมายโดยการฝังไมโครชิพ เพื่อป้องกันการลักลอบนำมาจากธรรมชาติ​ เนื่องจากไม่สามารถจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยงเองได้

สิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องทำความเข้าใจคือ เหี้ยยังคงเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” การจับเหี้ยจากธรรมชาติมาเลี้ยง หรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตยังคงเป็นสิ่งที่ “ผิดกฎหมาย” และมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการส่งเสริมการเพาะพันธุ์​ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเพาะพันธุ์เหี้ยเชิงเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมายและยั่งยืน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ที่สนใจและมีคุณสมบัติตามที่กำหนด​ ดังนั้น หากท่านใดสนใจที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์เหี้ย หรือมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและขั้นตอนการขออนุญาตได้ที่ ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเวลาราชการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และร่วมกันผลักดันให้เหี้ยเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด