(1 ก.ค. 68) นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมาว่า ตามที่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าจับกุมกลุ่มบุคคลที่แอบลักลอบขุดดินเพื่อหาแร่ทองคำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาช้างเผือก ตรวจยึดพื้นที่บุกรุก 14-0-1 ไร่ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่เกิดเหตุได้ จำนวน 2 คน เจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมตรวจยึดของกลางในการกระทำความผิด จำนวน 12 รายการ พร้อมจัดทำบันทึกเรื่องราวนำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปิล๊อก เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายใน 6 ข้อกล่าวหา ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2584 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และหลังจากนั้นได้มีการจับกลุ่มบุคคลที่ยังแอบลักลอบเข้าไปบุกรุกพื้นที่อีก 13 คดี ผู้กระทำความผิด 18 คน พร้อมของกลาง 123 รายการ
โดยในวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดทองผาภูมิ ได้มีคำพิพากษาคดีเกี่ยวกับการขุดแร่ทองคำ คดีแรก ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ โจทก์ และนายอาฉ่อง หรือบอล อายี นายอนุสรณ์หรือเบรก สุธาพจน์ จำเลยที่ 1-2 ตามลำดับ ในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และความผิดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ซึ่งศาลจังหวัดทองผาภูมิมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปครอบครองพื้นที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาช้างเผือก อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1A มีเนื้อที่ 14 ไร่ 1 ตารางวา และถือว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแผ้วถางป่าพื้นที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันแผ้วถาง อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือหรือครอบครองป่าทำประโยชน์ในที่ดิน อันเป็นการเสื่อมสภาพแก่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันยึดถือหรือครอบครองที่ดิน แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติไปจากเดิมในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้นที่ 1 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันเก็บหา นำออกไปหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งดิน หิน กรวด ทราย แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันเข้าไปดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อหาผลประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
สำหรับของกลางนั้น กระสอบเป้ 1 ใบ ของจำเลยที่ 1 หินแร่ 2 ก้อน กรรไกร 2 อัน คีม 1 อัน ไขควง 7 อัน สิ่ว 1 อัน ตะไบ 1 อัน มีดคัตเตอร์ 1 อัน ไฟฉาย 4 กระบอก มีดพก 1 เล่ม ไฟแช็ก 3 อัน ขวดแก้วแยกทอง 4 ขวด เทป 2 ม้วน ด่างทับทิม 1 ขวด กระเป๋ากระสอบ 2 ใบ และกระป๋อง 1 ใบ ของจำเลยที่ 2 เป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ และมีไว้เพื่อใช้เป็นสิ่งของอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการกระทำความผิดและได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด และเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ได้มาจากการกระทำความผิด และโจทก์ได้ให้พนักงานปิดประกาศ ตามกฎหมายจนล่วงพ้นเวลา 30 วันแล้ว ไม่มีผู้ใดอ้างตนเป็นเจ้าของ จึงให้ริบตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้ลงโทษฐานร่วมกันยึดถือหรือครอบครองที่ดิน แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติไปจากเดิมในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 ปี จำเลย ทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 560,100 บาท แก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ขอประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มบุคคลที่แอบลักลอบเข้าไปบุกรุก แอบขุดดินในแปลงตรวจยึดในคดีดังกล่าว หากถูกเจ้าหน้าที่จับกุมจะถูกลงโทษตามกฎหมายซึ่งมีความรุนแรง ถูกตัดสินจำคุกไม่รอลงอาญา หากพบการกระทำความผิดอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเฉียบขาดต่อไป.