ทีมนักวิจัยไทยได้ค้นพบพรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่แถบเทือกเขาตะนาวศรีทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย โดยได้ตั้งชื่อว่า “ปอศรีสมนึก” ชื่อวิทยาศาสตร์ 𝘚𝘰𝘮𝘯𝘶𝘦𝘬𝘪𝘢 𝘧𝘭𝘢𝘷𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 Duangjai, Chalermw., Sinbumr. & Suddee เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์สมนึก ผ่องอำไพ อาจารย์ผู้สอนวิชารุกขวิทยาให้กับนิสิตคณะวนศาสตร์มายาวนานหลายรุ่น
การค้นพบครั้งสำคัญนี้ เริ่มต้นเมื่อนายพรธวัช เฉลิมวงศ์ และนายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ได้พบพรรณไม้ที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ระหว่างการสำรวจพื้นที่ จึงได้ประสานงานกับ รศ.ดร.สุธีร์ ดวงใจ และทีมงานจากคณะวนศาสตร์ เพื่อตรวจสอบและศึกษาเพิ่มเติม
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์จากหลายหน่วยงาน ทั้งคณะวนศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จากการตรวจสอบอย่างละเอียดทีมนักวิจัยพบว่า พืชชนิดนี้เป็นพืชสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกในวงศ์ชบา (Malvaceae) โดยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารนานาชาติ PhytoKeys เล่มที่ 254 หน้า 221-243 ปี 2025 ภายใต้หัวข้อ “𝘚𝘰𝘮𝘯𝘶𝘦𝘬𝘪𝘢 𝘧𝘭𝘢𝘷𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢 (Malvaceae, Brownlowioideae), a new genus and species from Thailand” โดยคำระบุชนิด “𝘧𝘭𝘢𝘷𝘪𝘧𝘭𝘰𝘳𝘢” มีความหมายว่า ดอกมีสีเหลือง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 35 เมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทาหรือขาวอมเทา เปลือกเรียบหรือมีช่องอากาศกระจายห่างๆ เปลือกในสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น กิ่งแก่เกือบเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปหัวใจหรือคล้ายห้าเหลี่ยม กว้าง 9-21 ซม. ยาว 10-24 ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนตัดหรือรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือหยักซี่ฟันขนาดเล็กและมีขนครุย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ช่อยาวได้ถึง 40 ซม. ส่วนต่างๆ ปกคลุมด้วยเกล็ดรูปดาวสีขาวอมเทา ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง รูปช้อน ผลแบบผลแห้งแตกกลางพู รูปทรงกระบอกสั้น ยาว 5-6 ซม. มีสันตามยาว 5 สัน เมล็ดเกือบกลม สีน้ำตาลเข้ม มีเกล็ดสั้นรูปดาว
สำหรับตัวอย่างต้นแบบของพรรณไม้ชนิดนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้ (BKF) ภายใต้รหัส 𝘊𝘩𝘢𝘭𝘦𝘳𝘮𝘸𝘰𝘯𝘨, 𝘚𝘪𝘯𝘣𝘶𝘮𝘳𝘰𝘰𝘯𝘨 & 𝘐𝘴𝘴𝘢𝘳𝘢𝘱𝘢𝘬𝘥𝘦𝘦 𝟤𝟢𝟤𝟤𝟢𝟥𝟣𝟩-𝟢𝟣
ทีมวิจัยที่ค้นพบและศึกษาพรรณไม้ชนิดใหม่นี้ประกอบด้วยนักวิชาการจากหลายหน่วยงาน ได้แก่
– รศ. ดร.สุธีร์ ดวงใจ
– นายพรธวัช เฉลิมวงศ์
– นายอรุณ สินบำรุง
– นายธีรวัฒน์ ทะนันไธสง
– นายคุณานนต์ ดาวนุไร
– นางสาวอนุสรา แก้วเหมือน
– นายมานพ ผู้พัฒน์
– นางสาววันวิสา ภูไชยศรี
– นายกุศล ตั้งใจพิทักษ์
– ดร.ภานุมาศ จันทร์สุวรรณ
– รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย
– นายสุคิด เรืองเรื่อ
– นายสมราน สุดดี
การค้นพบพรรณไม้สกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการพฤกษศาสตร์ไทย และเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์สมนึก ผ่องอำไพ ผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาด้านรุกขวิทยาของประเทศไทยอีกด้วย.