• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

USAID ร่วมกับกรมอุทยานฯ  และผู้นำชาวพุทธ ร่วมต่อต้านความเชื่อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าในประเทศไทย

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประเทศไทย จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับพระภิกษุสงฆ์และแม่ชี จำนวน 16 รูป จากวัด 6 แห่ง เพื่อพัฒนาโครงการรณรงค์ในระดับชุมชน เพื่อลดความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากงาช้างและเสือโคร่งที่ผิดกฎหมาย โดยกิจกรรมได้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ณ อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก

โครงการ USAID Reducing Demand for Wildlife ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกที่มีสำนักเลขาธิการในไทย โดยผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ได้พัฒนาโครงการรณรงค์จำนวน 6 โครงการ เพื่อนำไปดำเนินการในชุมชนทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อที่ว่าผลิตภัณฑ์จากงาช้างและเสือโคร่งจะนำมาซึ่งความโชคดีและช่วยปกป้องคุ้มครอง การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นโครงการที่ต่อยอดจากความร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาติพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม ที่ริเริ่มภายใต้โครงการ USAID Wildlife Asia ซึ่งได้ระดมความร่วมมือจากพระภิกษุและแม่ชีเกือบ 100 รูป จากวัดต่าง ๆ ทั่วไทย เพื่อเข้าร่วมในโครงการรณรงค์ “ไม่พึ่งเขี้ยวงา” (No Ivory No Tiger Amulets) โดยโครงการดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่าง USAID และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนงดใช้เครื่องรางที่ทำจากผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า

 

พระภิกษุและแม่ชีที่เข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการก่อนหน้านี้ได้มีส่วนช่วยเผยแพร่โครงการรณรงค์ “ไม่พึ่งเขี้ยวงา” ในชุมชนของตน และพบว่าโครงการนี้ให้ผลลัพธ์ที่ดี ทั้งนี้เนื่องจากพระภิกษุและแม่ชีเปรียบเสมือนผู้นำที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อชุมชนท้องถิ่นที่ยึดถือความเชื่อในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง โดยโครงการที่ดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รวมถึงโครงการอนุรักษ์ช้าง เช่น การสร้างโป่ง บ่อน้ำและพนังในป่า เพื่อเป็นแหล่งอาหารและแหล่งน้ำสำหรับช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ และการเล่านิทานพื้นบ้านเกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ให้เด็ก ๆ ฟัง ทั้งนี้ผู้ดำเนินงานโครงการคาดว่าโครงการรณรงค์ระดับชุมชนที่พัฒนาขึ้นใหม่และดำเนินการโดยพระภิกษุและแม่ชี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการที่อาศรมวงศ์สนิท จะสามารถลดความต้องการงาช้างและผลิตภัณฑ์จากเสือโคร่งที่ถูกขับเคลื่อนโดยความเชื่อเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น

“กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความยินดีกับข้อริเริ่มที่จะนำภาคส่วนทางด้านศาสนาและความเชื่อ เข้ามามีส่วนร่วมในความพยายามลดความต้องการบริโภคสัตว์ป่า รวมทั้งซากและผลิตภัณฑ์ของสัตว์ป่า และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย โดยความร่วมมือนี้เป็นความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่มีบทบาทใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ความพยายามในการลดการใช้ประโยชน์อย่างผิดกฎหมายจากสัตว์ป่านี้ประสบความสำเร็จได้” นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว

“รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อร่วมกันยุติการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยการลดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย” ดร. เครก เคิร์กแพทริก ที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าระดับภูมิภาค USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าว

ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยหลังโครงการรณรงค์ในปี พ.ศ. 2564 ที่จัดทำโดย USAID แสดงให้เห็นว่าโครงการรณรงค์ที่มุ่งเป้าไปที่แรงจูงใจสามารถลดความต้องการและการยอมรับทางสังคมที่มีต่อการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจยังสามารถจดจำโครงการรณรงค์ได้มากที่สุดเมื่อมีกลุ่มผู้นำชาวพุทธเข้าร่วมโครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด