วันที่ 1 กันยายน 2565 Ms. Rabia Mushtaq และนางสาวนุชหทัย โชติช่วง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร องค์กร WildAid ประเทศไทย ได้เข้าพบ นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และนางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา พร้อมด้วย Ms. Eleanora De Guzman, Team Lead, SBCC/Demand Reduction ของโครงการ USAID Reducing Demand for Wildlife (RDW) ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเสนอแนวคิดโครงการรณรงค์ลดความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมในเรื่องดังกล่าว ซึ่ง WildAid และ โครงการ USAID RDW มีแผนดำเนินการร่วมกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องจากโครงการณรงค์ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วให้ดียิ่งขึ้น ณ ห้องประชุม ชั้น 10 อาคารสืบ นาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โครงการและกิจกรรมรณรงค์ที่นำเสนอ ประกอบด้วย (1) โครงการรณรงค์ “งาช้างอยู่กับช้างใช่ที่สุด” ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากโครงการระยะแรก “สวยที่ใจไม่ใช่ที่งา – Beautiful Without Ivory Campaign” โดยมุ่งนำเสนอแนวคิดที่ว่า “งาช้างที่สวยต้องอยู่บนตัวช้างเท่านั้นและไม่มีใครสวมใส่งาช้างได้สวยไปกว่าช้างเหล่านั้น” ผ่านคลิปสั้นและภาพนิ่งของ Influencer ที่มีชื่อเสียงด้านความงาม (ซินดี้ – สิรินยา บิชอพ) และความเชื่อ (หมอช้าง – ทศพร ศรีตุลา) ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2565 ซึ่งจะมีการเปิดตัวโครงการรณรงค์อย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนกันยายน 2565 นี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเว็บไซต์ https://www.usaidrdw.org/ และเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/WildAidThailand (2) โครงการ “Testimonial Videos Campaign” เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับการใช้เขี้ยวเสือและงาช้างเป็นเครื่องรางของขลัง โดยผู้นำทางศาสนาและปรัชญา จำนวน 3 คน ซึ่งเป็นการต่อเนื่องจากโครงการรณรงค์ “ไม่ใช้เขี้ยวงา – No Ivory No Tiger Amulets” โดยจะเริ่มรณรงค์ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 และ (3) การออกแบบยุทธศาสตร์สำหรับการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า โดย USAID RDW จะได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ความเห็น รวมถึงผลงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนายุทธศาสตร์ดังกล่าว รวมถึงกำหนดแนวคิดหลักและข้อความสำคัญที่จะใช้ในโครงการรณรงค์ที่จะดำเนินการในประเทศไทยและอาจขยายผลนำไปใช้ในระดับภูมิภาคในโอกาสต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวคิดและความเหมาะสมของกลุ่ม Influencer ที่จะใช้ในโครงการรณรงค์ต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งทาง WildAid จะได้นำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงได้ขอความอนุเคราะห์ใช้ชื่อและตราสัญลักษณ์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในสื่อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องดังกล่าวด้วย