วันที่ 19 เมษายน 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ และนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และมอบเสบียงอาหาร สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พร้อมกันนี้ยังได้ปลูกต้นจำปีศรีเมืองไทยไว้เป็นที่ระลึก โดยมี นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พร้อมด้วยผู้อำนวยการส่วน หัวหน้าหน่วยงานภาคสนามในสังกัด สบอ.11 (พิษณุโลก) และ นายสมเกียรติ กาติ๊บ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ร่วมให้การต้อนรับ ณ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการบังคับใช้ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง การห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastic) เข้าไปในเขตอุทยาน ที่หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ได้กำชับให้มีการสื่อสารและปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวด้วยท่าทีที่อ่อนโยน และอ่อนน้อม
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า และพืชพันธุ์หายากต่าง ๆ ให้มีความสมบูรณ์ ไม่ให้เสื่อมโทรมลง เพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานสืบต่อไป และที่สำคัญ คือ การสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน และการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างคนกับป่าตามแนวทางการบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพราะคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งหากชุมชนในพื้นที่เกิดความเข้มแข็ง มีความภูมิใจในสิ่งที่ตนมี ก็จะเกิดการอนุรักษ์พื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งหากได้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนแล้ว จะช่วยยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการทางระบบนิเวศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ได้ประกาศจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2515 ครอบคลุมพื้นที่ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตร.กม. ในเขต อ.น้ำหนาว อ.หล่มสัก และ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ กับพื้นที่บางส่วนในเขต อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 5 ของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ของกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว รอยต่อของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ พื้นที่ล้วนเต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติที่โดดเด่น ความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพและทางธรณีวิทยา ซึ่งกำลังถูกผลักดันให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนที่เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียน
โดยมีแหล่งท่องเที่ยวและทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น ชมพระอาทิตย์ตกที่ถ้ำผาหงส์ ชมพระอาทิตย์ขึ้นและทะเลหมอกที่ภูค้อ ป่าเปลี่ยนสี สวนสนป่าแปก สวนสนภูกุ่มข้าว ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ตลอดจนกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ กิจกรรมส่องสัตว์ กิจกรรมดูนก กิจกรรมดูผีเสื้อ และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤๅษี สนสองใบ รุกขมรดกของแผ่นดิน รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองหลายชนิด เช่น เลียงผา เนื้อทราย กวาง ช้าง กระทิง หมี เป็นต้น