วันที่ 29 พ.ย. 2566 ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ประกาศเตรียมที่จะยุติการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ไว้เป็นการชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ โดยได้เปิดให้บริการจำหน่ายบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรค่าบริการผ่านเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ด้วยระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ในอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 และได้สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาดังกล่าวแล้ว ในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 คณะกรรมการเงินอุทยานแห่งชาติ ได้อนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ เพื่อดำเนินโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะเวลา 1 ปี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติได้หารือร่วมกับ ป.ป.ช.
เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าวไม่สอดคล้องกัน โดยการจองและชำระเงินจะเกิดขึ้นก่อนวันที่เข้าใช้บริการจริง เช่น นักท่องเที่ยวจองและชำระเงินในวันที่ 1 แต่เข้าใช้บริการในวันที่ 7 ทำให้สถิติเงินรายได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 แต่สถิตินักท่องเที่ยวเกิดขึ้นในวันที่ 7 ประกอบกับพบข้อบกพร่องจากการใช้งานระบบในส่วนอื่น ๆ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดยจะมีการพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) เพิ่มเติมอีกจำนวน 31 แห่ง แต่เนื่องจากตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่น ๆ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการจองและชำระเงินผ่านระบบ E-ticket เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 เป็นต้นไป โดยจะได้เร่งดำเนินการตามกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุฯ โดยเร็วต่อไป
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จะดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของอุทยานแห่งชาติ อีก 96 แห่ง ให้ครอบคลุมอุทยานแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ
สำหรับการดำเนินการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบ e-ticket ที่ผ่านมา พบข้อจำกัด เนื่องจากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถรองรับระบบดังกล่าวได้ และการกรอกข้อมูลส่วนตัวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางส่วนไม่พร้อมในการให้ข้อมูลส่วนตัว เนื่องจากการจองผ่านระบบ e-ticker ต้องมีการกรอกข้อมูลรายบุคคลประกอบการจอง โดยปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมต่อไป