• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. นำร่อง “ตัดไม้เกษตรที่ปลูกเองเพื่อดำรงชีพ” ครั้งแรกของการตัดต้นยางพาราของชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์​ พร้อมตั้งหน่วยพัฒนาชุมชนฯ ยกระดับคุณภาพชีวิตควบคู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

19 กรกฎาคม 2568 เวลา​ 13.30 น.​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดโครงการ​ “ตัดไม้เกษตรที่ปลูกขึ้นเองเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ” ณ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล พร้อมมอบหนังสือที่อยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตป่าอนุรักษ์ให้แก่ นายอาซีซัน อำมาลี ให้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่อนุญาตให้มีการตัดต้นยางพาราในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างถูกกฎหมาย​ ทั้งนี้ ต้นยางพาราดังกล่าวเป็นต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูกมานานจนหมดสภาพ ไม่สามารถกรีดเอาน้ำยางได้แล้ว​ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาและปรับโครงสร้างการเกษตรช่วยให้ชาวบ้านมีมูลค่าทางการเกษตรที่สูงขึ้นในพื้นที่ป่าที่อนุรักษ์ดินและน้ำ โดยเน้นย้ำการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน

โครงการนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลในการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน​ โดยมี นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวต้อนรับ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนางสาวแสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้ตรวจราชการกรม นายภูษิต หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ นายอริยะ เชื้อชม ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายสัจรินทร์ ศรีเสน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) คณะผู้บริหาร ทส. ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนเข้าร่วมงาน

ดร.เฉลิมชัย เน้นย้ำว่า การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมในจังหวัดสตูลและพัทลุง เป็นการเริ่มต้นโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในจังหวัดสตูลที่มีประชาชนกว่า 10,000 คนอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า และวันนี้สามารถเริ่มดำเนินการได้ 20 ราย คิดเป็น 400 ไร่ ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับครอบครัว รัฐบาลมีนโยบายให้ภาครัฐและประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างครอบครัวเดียวกับธรรมชาติ โดยเน้นย้ำให้ทุกคนช่วยกันรักษาธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน และพยายามลดความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตระหว่างประชาชนกับภาครัฐ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแล ที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนที่ดินทำกินในพื้นที่ป่า โดยประชาชนมีเวลา 180 วันในการดำเนินการขึ้นทะเบียน ซึ่งจะสิ้นสุดประมาณวันที่ 25 สิงหาคม และขอกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด เร่งรัดการดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และงบประมาณที่ตั้งไว้ไม่ตกไป ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ซึ่งมีกว่า 300,000 ครอบครัว หรือ 1 ล้านคน ในพื้นที่ 4 ล้านไร่ทั่วประเทศ ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและการดูแลอย่างเท่าเทียมเหมือนคนไทยทุกคนและควรสนับสนุนให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ธรรมชาติ

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการแก้ไขระเบียบเพื่อให้พนักงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นเจ้าพนักงานของกรมป่าไม้และอุทยานฯ ได้ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานบูรณาการมากขึ้น สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ขาดสาธารณูปโภคและลดขั้นตอนระเบียบต่างๆ ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ภารกิจนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคุณค่าให้กับลูกหลานในอนาคต โดยไม่ต้องการเห็นประชาชนต้องต่อสู้กับภาครัฐอีกต่อไป แต่ต้องการให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และเน้นย้ำถึงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกคน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นหัวหน้าในการขับเคลื่อน

ดร.เฉลิมชัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เป็นการเริ่มต้นในจังหวัดสตูล และจะขยายไปทั่วประเทศ ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม่ต้องกังวล ไม่ต้องไปจ่ายเงินให้ใคร หากดำเนินการถูกต้องตามระเบียบแล้ว จะได้รับการอำนวยความสะดวกและถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ให้เกิดความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมานานและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยข้อมูลที่จากการสำรวจว่า ในเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ มีประชาชนอยู่อาศัยทำกินใน 224 ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุม 4,042 หมู่บ้าน รวม 314,784 ครอบครัว หรือประมาณ 1 ล้านคน บนเนื้อที่ประมาณ 4.257 ล้านไร่ โดยการดำเนินงานในวันนี้เป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่เห็นชอบพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า

ที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เตรียมความพร้อมอย่างครบถ้วน โดยจัดทำระเบียบและแนวทางการดำเนินงานในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล, การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน, การพัฒนาคุณภาพชีวิต, การเก็บเกี่ยวผลผลิต, การตัดไม้ยืนต้นที่ปลูกขึ้นเอง และการจัดการบริการเชิงนิเวศ นโยบายครั้งนี้เน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเป็น “ภาคีหุ้นส่วน” ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยกรมอุทยานฯ มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางตามพระราชกฤษฎีกาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการตัดไม้ยืนต้นที่ปลูกขึ้นเอง ไม้เกษตร หรือไม้ที่ปลูกตามนโยบายของรัฐในการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ การสร้างป่าเชิงนิเวศ หรือปลูกป่าระบบวนเกษตร การดำเนินงานครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

จากการสำรวจในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน พบว่า มีการครอบครองที่ดินโดยราษฎรใน 13 หมู่บ้าน รวม 1,398 ราย คิดเป็น 9,964.30 แปลง เนื้อที่รวม 1,095 ไร่ ในจำนวนนี้ มีราษฎร 20 ราย ยื่นความประสงค์ขอตัดโค่นไม้ยางพาราที่หมดอายุการกรีด ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 400 ไร่

ในวันนี้กรมอุทยานฯ ได้อนุญาตให้ นายอาซีซัน อำมาลี เป็นรายแรกที่สามารถตัดโค่นไม้ยางพาราในสวนของตนได้ นายอาซีซัน ซึ่งปลูกยางพารามานานกว่า 30 ปี แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับอนุญาต โดยกล่าวว่าในอนาคตมีแผนจะปลูกพืชเกษตรชนิดอื่นเพื่อดำรงชีพ และยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐในการดูแลรักษาพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ต่อไป

การดำเนินการครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกรมอุทยานฯ ในการสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน.ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ อย่างยั่งยืน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด