• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่สุดอุทยานแห่งชาติฯ : EP.20​ ภาพบันทึกพันปีที่ริมโขง​ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม

ผาแต้ม คือ หนึ่งเดียวในภาคอีสานที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความงดงามทางธรรมชาติกับเรื่องราวทางโบราณคดีอันมีคุณค่ามหาศาลของแผ่นผากว้างใหญ่ใกล้ริมน้ำโขง ที่แต้มแต่งเป็นลวดลาย และรูปร่างคน สัตว์ สิ่งของเครื่องใช้ ด้วยฝีมือมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ท่ามกลางประติมากรรมชั้นเยี่ยมจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์อย่างเสาเฉลียง และน้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรู

น้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรู มหัศจรรย์จากการสรรสร้างของธรรมชาติ หนึ่งในน้ำตกที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคอีสาน

ผาแต้ม เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างไทย-ลาวเป็นแนวยาวที่สุด 63 กิโลเมตร​ โดยครอบคลุมพื้นที่กว่า 340 ตารางกิโลเมตร บางส่วนในเขตอำเภอโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่​ และอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534​ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศ

ผาชะนะได จุดชมแลงแรกและทิวทัศน์แม่น้ำโขง ที่แบ่งเขตประเทศไทยและลาว

ผาแต้มคือ ภาพความงามอันเด่นชัดของภูหินทราย ดอกไม้กินแมลง ผืนป่าเต็งรังอุดมสมบูรณ์ และภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อันสูงค่าแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือคำว่า “ผาแต้ม” ในความหมายของชาวอีสานหมายถึง ผาที่มีสีไประบายหรือเขียนเป็นรูปต่าง ๆ เอาไว้ ผาแต้มของอุทยานแห่งชาติผาแต้มมีลักษณะเป็นทิวเขาหินทรายขนานไปกับริมฝั่งโขง กั้นพรมแดนไทย-ลาว ตรงส่วนชะง่อนผาด้านล่าง ยาวประมาณ​ 180 เมตร สูงราว 40 เมตร มีการสำรวจพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 3,000 ปี เป็นจำนวนกว่า 300 ภาพ นับเป็นกลุ่มภาพเขียนสีโบราณที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ลักษณะของภาพ​ แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาพมือ ภาพสัตว์ ภาพคน ภาพวัตถุ และภาพทรงเรขาคณิต

เสาเฉลียง สุดยอดประติมากรรมจากธรรมชาติ

ในอุทยานแห่งชาติผาแต้มมีการสำรวจพบภาพเขียนสีหลายแห่ง​ เช่น ที่ผาขาม ผาแต้ม ผาหมอน ผาหมอนน้อย ผาเจ็ก และผาเมย​ ทางอุทยานแห่งชาติ ได้ทำเส้นทางเดินชมเริ่มจากผาขามต่อไปยังผาแต้ม แล้วเชื่อมต่อกับผาหมอนและผาหมอนน้อย ส่วนบนสุดของภูเป็นลานหินทรายเรียบ สามารถขึ้นไปยืนชมทัศนียภาพกว้างไกลสุดสายตาของแม่น้ำโขง รวมทั้งผืนป่าในฝั่งลาวได้

สามหมื่นรู แหล่งท่องเที่ยวที่ต้องล่องเรือในลำน้ำโขงไปชม

ธรณีสัณฐานของอุทยานแห่งชาติผาแต้มส่วนใหญ่ประกอบขึ้นด้วยหินทรายที่ผ่านการผุกร่อนมาอย่างรุนแรงจนเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติแสนมหัศจรรย์ของเสาเฉลียง โดยมีลักษณะเป็นแผ่นหินกว้างวางซ้อนทับอยู่บนแท่งเสาหิน รูปร่างคล้ายดอกเห็ด

ทุ่งดอกไม้หลากหลายสีสันต่างบานสะพรั่งเต็มทั่วทุกหนทุกแห่งในช่วงปลายฝนต้นหนาว

เมื่อสายฝนเย็นฉ่ำโปรยปรายนำความชุ่มชื้นมาสู่ภูหินทรายเหล่านี้ เมื่อนั้นมวลมาลีเล็กๆ หลากหลายสีสันและชนิดพันธุ์จะผลิดอกสะพรั่งไปทั่วลานหินทราย ไม่ว่าจะเป็นสร้อยสุวรรณา ดุสิตา มณีเทวา ทิพย์เกสร สรัสจันทร หญ้าข้าวก่ำ กะเพราน้ำโขง และหยาดน้ำค้าง เหล่านี้ต่างมีเผ่าพันธุ์เป็นพืชกินแมลงที่ดำรงชีวิตอยู่บนลานหินทราย ซึ่งขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำได้ โดยสร้างอวัยวะพิเศษคล้ายกระเปาะไว้ดักแมลงเล็ก ๆ มาย่อยสลายกินเป็นอาหารได้อย่างน่าฉงน

 

การเดินทางจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีไปยังอำเภอโขงเจียม ระยะทางประมาณ​ 80 กิโลเมตร แล้วเดินทางไปตามเส้นทางยุทธศาสตร์สายโขงเจียม-เขมราฐ​ อีก 15 กิโลเมตร เลี้ยวขวาต่อไปอีก​ 5 กิโลเมตร ถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวท้องที่บ้านหนองผือน้อย ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม ซึ่งที่ทำการอุทยานแห่งชาติผาแต้มตั้งอยู่ ก่อนถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ประมาณ 2 กิโลเมตร

ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด