• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมพิจารณาแนวทางลดการสูญเสียปัญหาช้างป่า บุกรุกที่ทำกิน ทำร้ายประชาชน

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการอนุรักษ์สัตว์ป่า นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมเพื่อลดการสูญเสียจากปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินและทำร้ายประชาชน ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมการปกครอง และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน เข้าร่วม ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอเนกประสงค์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ

โดยการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับการร้องเรียนจากเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน ว่าได้รับผลกระทบจากช้างป่ารุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่อยู่อาศัย และเขตพื้นที่ทำ การเกษตร สร้างความเสียหายรุนแรง ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 พบว่ามีการสูญเสียชีวิตของประชาชนและช้างป่าเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนถูกช้างป่าทำร้ายใกล้ชิดแหล่งชุมชนมากขึ้น และประชาชนใช้วิธีป้องกันช้างป่าบุกรกที่อยู่อาศัย/พื้นที่ทำการเกษตร ด้วยวิธีที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน จาก 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง และสระแก้ว จึงได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมหารือในประเด็นดังกล่าว

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการพิจารณา มาตรการและแนวทางเพื่อลดการสูญเสียจากปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินและการเยียวยาประชาชนที่ถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต หรือบาดเจ็บ โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่าภาคประชาชน ได้มีหนังสือเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการสูญเสียจากปัญหาช้างบุกรุกที่ทำกิน ต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเสนอมาตรการเร่งด่วน คือ 1.การผลักตันให้การแก้ไขปัญหาช้างป่าเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมบูรณาการและพิจารณาทบทวนการแก้ไขปัญหาช้างป่าให้เหมาะสม 2.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ 5 กลุ่มป่า เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการรายงานของส่วนราชการ 3.ผลักดันให้รัฐบาลนำรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า สภาผู้แทนราษฎร มาเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและการบริหารจัดการ ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติในแต่ละพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด