• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สบอ.12 (นครสวรรค์) เปิดภาพกล้องดักถ่ายสำรวจประชากร “ควายป่า” พบมีความสมบูรณ์มากขึ้น

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) เปิดเผยว่า จากการนำร่องติดตั้งกล้องดักถ่ายป่าห้วยขาแข้ง เพื่อทำการสำรวจจำนวนประชากรควายป่า ในหาแนวทางในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 – 28 เมษายน 2565 เจ้าหน้าที่กลุ่มงานวิชาการและสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ได้เข้าพื้นที่เพื่อศึกษาการกระจายของไมยราบยักษ์ในบริเวณลำห้วยขาแข้ง พร้อมทั้งได้มีการสำรวจการกระจายและการใช้พื้นที่ของควายป่าในบริเวณเดียวกันด้วย ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งโดย นายสันต์ภพ อัศวประภาพงศ์ ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบกล้องดักถ่ายภาพบางจุด จากทั้งหมด 15 จุดที่ตั้งอยู่ตามแนวลำห้วยขาแข้ง

จากการดำเนินงานดังกล่าว มีการพบร่องรอยของควายป่าคือรอยตีนและร่องรอยการลงแช่ปลักที่พบตลอดที่ราบข้างลำห้วยในบริเวณที่ทีมสำรวจไมยราบยักษ์เข้าทำงาน อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าในบริเวณที่ราบริมลำห้วยซึ่งมีความร่มเย็นเนื่องจากมีเรือนยอดไม้ปกคลุมค่อนข้างหนาแน่นเป็นบริเวณที่ควายป่าใช้หลบพักนอนในช่วงกลางวันโดยพบรอยตีนควายป่าเกลื่อนในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อถึงเวลาค่ำพบว่าควายป่ามีการออกมานอนแช่น้ำลำห้วย และนอนบนหาดทราย แต่เป็นกลางคืนภาพที่บันทึกได้จึงไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

สำหรับภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายรอบนี้แสดงให้เห็นว่า ควายป่ามีความสมบูรณ์มากขึ้นแตกต่างจากภาพที่ได้มาในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากในรอบเดือนที่ผ่านมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ทำให้หญ้าแตกกอ ต้นไม้มีใบอ่อนมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ยังมีฝูง “ควายป่า” อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งจากรายงานพบที่นี่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่มีเหล่าควายป่าอาศัยอยู่ เหลืออยู่ราว ๆ  50 ตัว จึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยอย่างมาก โดยชอบอาศัยอยู่บริเวณ ริมลำห้วยขาแข้งทางตอนใต้ของผืนป่า ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นปลักโคลน ดินเลน ชายน้ำ กีบเท้าของพวกเขาจึงมีลักษณะกลมและแป้นช่วยในการย่ำปลักได้ดี อาหารส่วนใหญ่เป็นยอดไม้ ใบไม้อ่อน ๆ หญ้า ไปจนถึงหน่อไม้ ชอบนอนจมปลัก เรียกได้ว่า มุดหายไปในปลักทั้งตัวโผล่ไว้แต่จมูกเพื่อหายใจ หวังเพื่อคลายร้อนในตัว และกัน
แมลงรบกวน

ควายป่า เป็นสัตว์ป่า 1 ใน BIG 7 หรือ 7 สัตว์ป่าผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง ควายป่าหรือ มหิงสา (wild buffalo) เป็นต้นตระกูลของควายบ้านที่คุ้นเคยกันดี ลักษณะโดยทั่วไป คล้ายคลึงกันอย่างมาก นั่นก็เพราะสืบมาจากเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่หากมองลึกลงไปในรายละเอียดก็พบว่า ทั้งคู่มีส่วนที่ต่างกันทั้งลักษณะ พฤติกรรม และนิสัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด