• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ย้าย ‘วัวแดง’ สู่คอกปรับสภาพ เตรียมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเดือนกุมภาพันธ์นี้

วันที่ 27 มกราคม 2565 นายเสรี นาคบุญ หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ ร่วมกับ รศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ นายสัตว์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะสัตว์แพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง เข้าร่วมปฏิบัติเคลื่อนย้ายวัวแดงสู่คอกปรับสภาพก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ตามโครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยวัวแดงที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติครั้งนี้มี จำนวน 3 ตัว ช่วงอายุประมาณ 3-5 ปี ได้แก่ น้องคุ้มครอง น้องวันสุข เพศผู้ 2 ตัว และน้องน้ำฝน เพศเมีย 1 ตัว ซึ่งได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมขั้นตอนการวางยาสลบและเคลื่อนย้ายวัวแดง โดยในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากวัวแดงเป็นสัตว์ใหญ่ และมีสัญชาตญาน การเป็นสัตว์ป่าแม้อยู่ในคอกเลี้ยงก็ตาม ขั้นตอนเริ่มจากการคัดเลือกวัวแดงที่จะปล่อยในคอกเลี้ยงที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ มีความพร้อมและความแข็งแรง พร้อมทั้งได้ติดปลอกคอส่งสัญญาณ เก็บ DNA ตรวจสุขภาพ จากนั้นได้นำวัวแดงไปวางไว้ในกล่องฝึก ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังคอกปรับสภาพก่อนปล่อย เพื่อให้วัวแดงอยู่ในคอกปรับสภาพระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมในป่าและห่างไกลจากผู้คน ก่อนที่จะมีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้

สำหรับ โครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้นำวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติได้แล้วจำนวน 13 ตัว และจากการติดตามวิจัยหลังปล่อยอย่างต่อเนื่อง พบว่าวัวแดงสามารถดำรงชีวิตรอดมีลูกที่เกิดในธรรมชาติอย่างน้อย 18 ตัว รวมแล้วอย่างน้อย 31 ตัว นับเป็นความสำเร็จยิ่งของโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนสำคัญ โดยเฉพาะการสร้างมวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง รอบ ๆ ผืนป่าได้อย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ การนำวัวแดงกลับคืนสู่ป่าสลักพระ ไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มประชากรวัวแดงให้ผืนป่าที่ได้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นอาศัย ยังเป็นการเติมเต็มห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศที่ขาดหายไป และยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ถอดบทเรียนด้านการวิจัยสัตว์ป่าที่สำคัญของไทยอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด