วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วย นายสว่าง กองอินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยได้เดินทางไปยังโรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ในบริเวณหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 กลุ่มบ้านนาอ่อน โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเชิญถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี พร้อมเสื้อกันหนาว ไปมอบแก่เด็กในพื้นที่โครงการ ฯ จำนวน 4 พื้นที่หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 กลุ่มบ้านนาอ่อน หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 2 กลุ่มบ้านห้วยซลอบ หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 กลุ่มบ้านมะโนรา และหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 4 กลุ่มบ้านห้วยปมฝาด สร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงาน และต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรเสมอมา
โอกาสนี้ คณะฯ ได้พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรในโครงการ รับฟังบรรยายสรุปผลสัมฤทธิ์และติดตามผลการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม รับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อ มาทรงพระกรุณาโปรพระราชทาน ชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี”
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 โครงการฯ ได้มีจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และจัดฝึกอบรมหลักสูตรราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) จำนวน 50 คน งานอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ มีการจัดทำแนวกันไฟ ระยะทาง 75 กิโลเมตร ปลูกฟื้นฟูสภาพป่า 150 ไร่ ส่งเสริมชุมชนปลูกไม้ท้องถิ่นและส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว 25 ไร่ งานศึกษาวิจัยและรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ จัดทำฐานข้อมูลป่าไม้ งานป้องกันรักษาป่า มีการจัดตั้งจุดสกัดเพื่อลดปัญหาการเข้าไปกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ป่า ลาดตระเวนออกตรวจปราบปรามในพื้นที่ล่อแหลม และงานพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก จัดทำระบบประปาภูเขา ส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่เป็นอาหารในครัวเรือน มีราษฎรได้รับประโยชน์ 4 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน (กลุ่มบ้าน) จำนวน 654 หลังคาเรือน รวม 2,285 คนจากนั้น องคมนตรี ร่วมปลูกต้นไทรย้อยใบแหลม ณ ที่ตั้งสำนักงานหน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและร่มเงาให้แก่พื้นที่ด้วย