วันที่ 31 มีนาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมพิธีเปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 (ปธส. 9) โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “BCG Model and Decoupling การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่” และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารฯ เข้าร่วมพิธีเปิด เพื่อเสริมศักยภาพผู้นำสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพนักบริหารระดับสูงขององค์กรให้มีความรู้ความเข้าใจ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง รู้เท่าทันสถานการณ์การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยหลายทศวรรษที่ผ่านมาเวทีการประชุมในระดับโลกและระดับภูมิภาค ได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาของโลกร้อน ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน และปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้น เป็นหัวข้อสำคัญในการสนทนาแลกเปลี่ยน และหาทางออกร่วมกัน จนเกิดกระแสของการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่กระจายไปทั่วโลก เพื่อปรับเปลี่ยนและรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นอีกหนึ่งหนทางเพื่อเพิ่มความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ ซึ่งทุกคนได้เห็นผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นมาตรการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นจากทั่วโลก ซึ่งรัฐบาลเองก็ได้ให้ความสำคัญและได้มีนโยบาย รวมทั้งแนวทางมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องคนไทย ในขณะเดียวกันตั้งแต่ต้นปี 2564 ประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ “BCG Model” หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การกำหนดเครื่องมือและกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่เป็นองค์รวมเกิดการบูรณาการแนวคิดระหว่างการอนุรักษ์ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคีร่วมพัฒนา เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ก็เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ดังนั้น การศึกษาอบรมหลักสูตร ปธส. นอกจากจะเป็นการสร้างผู้นำยุคใหม่หัวใจสีเขียวในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือ Next Normal
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง (ปธส.) มาแล้ว 8 รุ่น โดยครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 9 ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และเอกชน รวม 62 คน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพผู้สำเร็จการศึกษาอบรมให้เป็นนักบริหารยุคใหม่ที่มีหัวใจสีเขียวเป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเป็นต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยมีระยะเวลาการศึกษาอบรม รวม 182 ชั่วโมง แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาที่ 1 หลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการสำหรับผู้บริหาร กลุ่มวิชาที่ 2 กระแสโลกและแนวโน้มด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิชาที่ 3 เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลุ่มวิชาที่ 4 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่มวิชาที่ 5 การเสริมสร้างประสบการณ์เชิงประจักษ์ ซึ่งการดำเนินงานด้านวิชาการนี้ ได้รับความร่วมมือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีประสบการณ์อย่างสูงด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม มาช่วยดูแลเนื้อหาด้านวิชาการและบริหารจัดการหลักสูตร