• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. ลงพื้นที่มรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้และชุมชน พร้อมหนุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า

วันที่ 9 มกราคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นาวาตรี สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการ รมว.ทส. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช​ นายวีระ​ ขุนไชยรักษ์​ รองอธิบดีฯ​ และคณะผู้บริหารระดับสูง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานของชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) ที่หน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้า พร้อมมอบสิ่งของและเสบียงแก่เจ้าหน้าที่ ตลอดจนพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ และมอบอุปกรณ์กีฬาให้แก่นักเรียนโรงเรียนกองม่องทะ สาขาบ้านสาละวะ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทิไล่ป้า โรงเรียนบ้านหินตั้ง

ทั้งนี้​ รมว.ทส. ยังได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารดูแลสวัสดิการและขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนอาวุธปืนสำหรับการป้องกันตัวและการลาดตระเวน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จากนั้นได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยพิทักษ์ป่าจะแกไปยังสันเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมบินสำรวจสภาพป่าทุ่งหญ้าธรรมชาติบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าเซซาโว่ เพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง

สำหรับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่ปี 2534 และได้รับการพัฒนาภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกิดขึ้นจากพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ที่ทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ห่างไกล โดยมีการจัดตั้งมูลนิธิภูบดินทร์ในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงาน​ในการขับเคลื่อนงาน ทั้งนี้​ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานพัฒนาป่าไม้และชุมชนฯ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการปลูกป่า การจัดการต้นน้ำ และการป้องกันไฟป่า​ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาพื้นที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ประกอบด้วย ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้ผล และป่าเชื้อเพลิง เพื่อประโยชน์ทั้งการใช้สอย การเป็นแหล่งอาหาร การเป็นเชื้อเพลิง และการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยมีการดำเนินงานครอบคลุม 6 ด้านหลัก ได้แก่ การคมนาคม สาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข

ด้านการจัดการพื้นที่กรมอุทยานฯ​ ได้มีการจัดทำ MOU กับราษฎรในพื้นที่ภายใต้มาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จัดสรรพื้นที่ทำกินรายละไม่เกิน 20 ไร่ มีผู้เข้าร่วมที่บ้านสาละวะ 111 ราย และบ้านไล่โว่ 113 ราย พร้อมทั้งได้รับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมในปี 2567-2568 เพื่อดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด