• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า ร่วมกับบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน)

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า ร่วมกับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) โดยมี นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และ นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายภาณุมาศ สามสีเนียม หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า นางสาวยุวดี ถาวรไชยโสภณ รองผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมเป็นพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมสนับสนุนด้านอาหารเพื่อสัตว์ป่า เพื่อส่งต่ออาหารที่ยังรับประทานได้ หรือที่เรียกว่า “อาหารส่วนเกิน” (Food Waste) โดยนำอาหารที่เหลือจากการจำหน่าย เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด เป็นต้น ส่งต่อให้หน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้แก่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า 23 แห่ง ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า 3 แห่ง และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก 1 แห่ง รวม 27 แห่ง เป็นกระบวนการแก้ปัญหาอาหารส่วนเกิน (Food Waste) ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และสนับสนุนให้มีการนำอาหารส่วนเกิน (Food Waste) ไปเป็นอาหารและเสริมสร้างสวัสดิภาพสัตว์ป่า เนื่องจากปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบดูแลสัตว์ป่า พ่อแม่พันธุ์ สัตว์ป่าของกลางและสัตว์ป่า จากกรณีแก้ไขปัญหาและบาดเจ็บ มากกว่า 20,000 ตัว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี ในขณะที่งบประมาณในการดูแลมีอย่างจำกัด การบริหารจัดการทั้งด้านอาหารและสวัสดิภาพสัตว์ป่าจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายลงนามร่วมกัน
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันในการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน (Food Waste) เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศและมนุษย์ โดยสัตว์ป่าช่วยสร้างความสมดุลของระบบนิเวศสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจรวมถึงให้คุณค่าทางด้านนันทนาการต่อมนุษย์การอนุรักษ์สัตว์ป่านอกถิ่นกำเนิด (Ex situ conservation) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญในการคุ้มครองความอยู่รอดของชนิดพันธุ์สัตว์ป่า โดยเสริมสร้างความมั่นคงทางพันธุกรรม ลดความเสี่ยง ต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า และสวัสดิภาพสัตว์ป่า ภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด