• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อธิบดีฯ ‘อรรถพล’ ติดตามการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ อช.ดอยอินทนนท์

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายกริชสยาม คงสตรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 และนายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องตามโครงการบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่จากทั้งหมด 20 พื้นที่
นายอรรถพล กล่าวว่า การมาร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานภายใต้การบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ครั้งนี้ ได้มอบหมายให้การจัดโครงสร้างภายในอุทยานฯ เป็นไปตามความสำคัญของภารกิจ โดยไม่เป็นการสร้างงานหรือสร้างภาระทางบุคลากร ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของคนกับงาน ให้มีการประชุม ติดตามแผนงาน ผลการดำเนินงานและงบประมาณทุกเดือน ทั้งนี้หัวหน้าอุทยานต้องศึกษาเรียนรู้ในทุกภารกิจทุกด้านให้ครบถ้วน ตลอดจนต้องมีทักษะความเป็นผู้นำ นักแก้ปัญหา นักสร้างทีม นักสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ให้ทุกหน่วยทุกโครงการ ต้องปฏิบัติงานภายใต้ชื่อของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อีกหน้าที่หนึ่ง โดยต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อพื้นที่อุทยาน สำหรับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มีหน่วยงานที่ต้องบูรณาการ จำนวน 16 หน่วยงาน ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท โดยให้หัวหน้าหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่าและทุกหน่วยงาน ทำงานไปด้วยกันได้
สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของพื้นที่อนุรักษ์แบบบูรณาการเชิงพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 ฝ่าย มีหัวหน้าฝ่ายเป็นผู้กำกับดูแล ได้แก่ ฝ่ายบริหารทั่วไป ดำเนินงานสารบรรณ การบริหารงานบุคคล การเงินและบัญชี งานด้านพัสดุ จัดเก็บ ควบคุม และนำส่งเงินรายได้อุทยานแห่งชาติ ตรวจสอบ ควบคุมบัตรค่าบริการและใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น ฝ่ายจัดการท่องเที่ยวและศึกษาวิจัย มีหน้าที่กำหนดแนวทางการพัฒนาตามหลักการจัดการอุทยานแห่งชาติ จัดทำสิ่งก่อสร้าง ปรับสภาพภูมิทัศน์ วางแผนด้านการตลาดของการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ จัดการด้านที่พักและบริการในอุทยานฯ จัดการกู้ภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น ฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดำเนินงานป้องกันและปราบปราม งานคดีและของกลาง งานป้องกันและดับไฟป่า งานศูนย์ควบคุมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) งานเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นต้น และฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ดำเนินการจัดการอุทยานแห่งชาติสู่ความยั่งยืนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ สร้างเครือข่ายการจัดการอย่างมีส่วนร่วม จัดทำฐานข้อมูลในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการพื้นที่ กิจกรรมการสนองงานพระราชดำริ โครงการฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด