นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบหมายให้ นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 26 (26th MSC) ในวันที่ 9 -10 กรกฎาคม 2568 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า ได้แก่ นางสาวชลธิดา เชิญขุนทด นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ และนางสาวกติณญา สมสังข์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน เนการาบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (AATHP) โดยมีคณะผู้แทนไทยนำโดย นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ
ตลอดปีที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันไฟป่าและหมอกควันข้ามแดน โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของไทยในการจัดการพื้นที่พรุและป่าบกอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการป้องกันไฟป่าและลดการเกิดหมอกควัน
โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงผลสำเร็จที่น่าชื่นชมของความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน โดยภูมิภาคอาเซียนสามารถลดจุดความร้อนลงได้ 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2567 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันและควบคุมที่ได้ดำเนินการร่วมกัน
นอกจากนี้ ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามจัดตั้งศูนย์ประสานงานควบคุมหมอกควันข้ามแดนแล้ว และมีความร่วมมือภายใต้แผนงาน “อาเซียนปลอดหมอกควัน 2573” ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในระยะยาว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบการยกระดับระบบจัดชั้นอันตรายของไฟเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA FDRS) และการเพิ่มสถานีตรวจอากาศอัตโนมัติ พร้อมพัฒนาระบบสำรองภายในปี 2570 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเตือนภัยและการตอบสนองต่อสถานการณ์ไฟป่าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์อากาศในช่วงข้างหน้า คาดการณ์ว่าสถานะ ENSO จะปกติ (Neutral) และคาดการณ์ฝนตกปกติถึงมากกว่าปกติในช่วงข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงเกิดหมอกควันในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า
นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการป้องกันและควบคุมไฟป่า ซึ่งเป็นภารกิจหลักของกรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการป้องกันไฟป่า ซึ่งกรมอุทยานฯ จะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานด้านการป้องกันไฟป่าในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป.