วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสม กรณีการขอถอดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ณ ห้องประชุมสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ และผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปลดปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเร่งผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ พร้อมมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมกรณีการขอถอดถอนนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบและรัดกุม ประกอบด้วยคณะทำงานด้านการสำรวจสถานภาพนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษา สำรวจ ประเมินสถานภาพประชากรนกปรอดหัวโขนทั่วประเทศ จัดทำฐานข้อมูล และรายงานผลการศึกษาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาทางวิชาการ
คณะทำงานกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและปราบปรามการล่านกในธรรมชาติ มีสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์การล่าและการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนกปรอดหัวโขน พร้อมเสนอแนวทางเชิงรุกในการป้องกันปราบปรามการล่าและการบังคับใช้กฎหมาย และคณะทำงานกำหนดแนวทางและมาตรการป้องกันและควบคุมการปล่อยนกกรงสู่กรงเลี้ยงสู่ธรรมชาติ มีผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามอนุสัญญา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ทำหน้าที่ศึกษาผลกระทบของการปล่อยนกจากกรงเลี้ยงสู่ธรรมชาติ ทั้งด้านสุขภาพ การแพร่โรค พันธุกรรม และกำหนดแนวทางควบคุมการปล่อยนกให้ปลอดภัยต่อระบบนิเวศ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลและใช้ประโยชน์จากนกอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เตรียมจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากประชาชนผู้เลี้ยง ผู้ประกอบการ และสมาคมเลี้ยงนกที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการเสนอปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองต่อไป การดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการก้าวสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์ป่าของไทย โดยคำนึงถึงทั้งมิติเศรษฐกิจและการอนุรักษ์อย่างสมดุล เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน.