วันที่ 20 มีนาคม 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. ลงนามความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ จำนวน 3 ฉบับ โดยมี นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ และนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. รวมทั้งผู้บริหาร กลุ่ม ปตท. อีก 7 บริษัท โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน ในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือโครงการลูกป่า 2 ล้านไร่ ณ ปตท. สำนักงานใหญ่
ทั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมบริษัทในกลุ่ม ได้ลงนาม MOU จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูกบำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไมั กับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชโครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไมั กับ กรมป่าไม้ และโครงการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของภาคีภาครัฐและเอกชนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์และแหล่งกักเก็บคาร์บอน จำนวน 2 ล้านไร่ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
การปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ของกลุ่ม ปตท. เป็น 1 ในกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” ที่มุ่งเนันการเน้นธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2050 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต ค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่พร้อมทั้งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ในประเทศ รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ตลอดจนเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 ซึ่งในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 4.15 ล้านต้นต่อปีอีกด้วย
นอกจากนี้ ปตท. ยังสร้างการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้ในเรื่องการปลูกป่าและดูแลสิ่งแวดล้อม
ให้กับคนไทย ผ่านแอปพลิเคชั่นเกม “คุณช่วยเก็บ เราช่วยปลูก” โดยต้นไม้ในเกมทุกต้นที่คนไทยร่วมกับเก็บและดูแล จะถูกนำมารวบรวมและลงแปลงปลูกจริงในพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดเกมดังกล่าวได้ทั้งในระบบ IOS และ Android ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งตรงกับ “วันป่าไม้โลก”