• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ฝึกอบรมหลักสูตร “รุกขวิทยาป่าไม้” ติวเข้มเสริมทักษะการวินิจฉัยพรรณไม้

เมื่อวันที่ 22-27 มกราคม 2566 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดยศูนย์ฝึกอบรมที่ 2 (เขาใหญ่) จังหวัดนครนายก ร่วมกับกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “รุกขวิทยาป่าไม้” ประจำปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ที่ปฏิบัติงานด้านพรรณไม้ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างป่าประเภทต่าง ๆ สามารถวินิจฉัยพรรณไม้เด่นและพรรณไม้สำคัญอื่น ๆ โดยใช้หลักการด้าน “รุกขวิทยาป่าไม้” ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แก่นักวิจัย ประชาชน และผู้ที่สนใจได้อย่างถูกต้อง

ปัญหาที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ คือ ไม่สามารถระบุชนิดพรรณไม้และป่าประเภทต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องมีความรู้ และถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนผู้สนใจได้ การจดจำลักษณะประจำพรรณไม้ โดยสังเกตจากลักษณะภายนอก (External Morphology) เช่น ลักษณะลำต้น ใบ ดอก กิ่ง ผล ทรงพุ่ม ฯลฯ ของพรรณไม้นั้น ๆ ถือเป็นจุดสังเกตเบื้องต้นที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ระบุพรรณไม้ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรณไม้ภายในพื้นที่รับผิดชอบที่ปฏิบัติงานอยู่ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จำเป็นต้องทราบถึงประโยชน์ และความสำคัญของพรรณไม้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือสรรพคุณทางสมุนไพรอีกด้วย

สำหรับการฝึกอบรมดังกล่าวมีการบรรยาย เรื่องป่าของประเทศไทย รุกขวิทยาเบื้องต้น พรรณไม้เด่นของป่าประเภทต่าง ๆ การเรียกชื่อพรรณไม้ ข้อสังเกตลักษณะพรรณไม้ในภาคสนาม ลักษณะวงศ์พรรณไม้ยืนต้น การเก็บตัวอย่างพรรณไม้และการเก็บรักษาพรรณไม้ และการฝึกปฏิบัติศึกษาดูพรรณไม้ในภาคสนาม รวมถึงสรุปผลการฝึกปฏิบัติการศึกษาพรรณไม้ในภาคสนาม โดยวิทยากรจากกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด