ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ซึ่งจะต้องอาศัยที่ดินทำกินเป็นปัจจัยหลักในการประกอบอาชีพ และสังคมไทยเราต้องยอมรับว่ามีพี่น้องเกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามาก่อนกฎหมายที่ดินทั้งหลายจะบังคับใช้ อย่างไรก็ตามสืบเนื่องจากปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าทุกประเภทได้ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร มีความต้องการพื้นที่ทำกินได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เกิดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่ามากขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง มลภาวะทางอากาศ ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบถึงประชาชนทุกระดับทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเท่าเทียม
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องรับผิดชอบในปัญหาภาพรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของที่ดินทำกินของเกษตรกรกับพื้นที่อันจะต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้เพื่อประโยชน์ของประชาชนไทยทั้งประเทศ ด้วยการเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งประกาศใช้มายาวนาน ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ไม่ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปัญหาการทับซ้อนของที่ดินทำกินกับพื้นที่อนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้คำนึงถึงความจำเป็นพื้นฐานของพี่น้องประชาชนในการดำรงชีพคือการมีที่ดินทำกิน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่ได้รับการปรับปรุงเรียบร้อยแล้วจะอำนวยประโยชน์ต่อประชาชนทุกฝ่ายอย่างสมดุลและยั่งยืน
ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้กับเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และได้ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 โดยเน้นสาระสำคัญของพระราชบัญญัติกฎหมายใหม่ กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 64 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่ทำกินภายในเขตอุทยานแห่งชาติภายใน 240 วัน นับตั้งแต่กฎหมายประกาศใช้ หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะต้องมีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินผ่านการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา สำหรับประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือตามพระราชกฤษฎีกา มาตรา 64 วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยตามกรอบเวลาตามมติ ครม. วันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 กล่าวคือ ประชาชนที่จะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติก่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยชุมชนที่อาศัยในพื้นที่อุทยานฯ จะไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น หากแต่สามารถอยู่อาศัยทำกินได้ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ การช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าแต่เดิมนั้น จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การอยู่อาศัยหรือทำกิน รวมถึงการสิ้นสุดการอนุญาต ซึ่งจะอยู่ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นการให้สิทธิ์ในที่ทำกินไม่ใช่การให้เอกสารสิทธิ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกกฎหมายลำดับรอง ในการกำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไข การอยู่อาศัยและทำกิน รวมถึง กรณีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่แล้วในอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้เหมาะสมกับลักษณะพื้นที่ และวิถีชีวิตของชุมชนดั้งเดิมและกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ชาวเล ชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรที่มีอยู่ก่อนแล้วภายในเขตป่าอนุรักษ์ให้สามารถมีการจัดการได้อย่างเหมาะสม และรักษาความสมดุลในการคุ้มครองพื้นที่ตามการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาเรื่องด่วน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาล ที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มีมติเห็นชอบพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทํากินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามมติ คทช.ได้กําหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ให้มีแนวทางในการดําเนินการสำรวจครอบครองที่ดิน ตามหลักการจัดการพื้นที่ เพื่อให้คงเจตนารมณ์ของการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งชุมชนที่จะได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้นที่มีการกำหนดชอบเขตพื้นที่ทำกินที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน และเป็นการให้สิทธิทำกินมิให้เอกสารสิทธิ
โดยแนวทางการจัดการพื้นที่ตาม ม.64 ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก คือการสำรวจการครอบครองที่ดิน และการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในรูปแบบของการประชาคมของชุมชน โดยมีคณะกรรมการ/คณะทำงาน ที่แต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการ 2 ระดับ คือ คณะทำงานสำรวจการครอบครองที่ดินระดับพื้นที่ เพื่อร่วมกับชุมชนในการสำรวจและบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และคณะกรรมการพิจารณาผลการสำรวจการครอบครองที่ดินระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ หรือสำนักบริหารฟื้นที่อนุรักษ์สาขาเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินการและแก้ไขปัญหาจากผลการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ระดับพื้นที่ โดยนำผลการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541
และการตรวจสอบผู้ครอบครองที่เป็นผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม นั้น ๆ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 66/2557 มาตรวจสอบร่วมกับราษฎร เพื่อจัดระเบียบการครอบครองที่ดิน และกำหนดให้เป็นเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการพิจารณาอนุญาต ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยสามารถนำแนวเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ มาจัดทำเป็นโครงการ/แผนงานเพื่อนำเสนอขออนุญาตใช้พื้นที่ได้ตามกฎหมาย
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์เพื่อประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง (ร่างพระราชกฤษฎีกา) โดยกำหนดดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน เพื่อให้ได้เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ตามที่กฎหมายกำหนด ในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ มีราษฎรถือครองที่ดิน จำนวน 316,560 ราย 468,256 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4,273,726 ไร่ ก่อนนำเสนอเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
อันจะเป็นเครื่องมือยืนยันให้ราษฎรเห็นว่า สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินที่เป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ให้สำเร็จได้ตามกฎหมายที่กำหนด เป็นที่ยอมรับในการให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์อย่างเกื้อกูลธรรมชาติในพื้นที่ที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน และที่สําคัญต้องร่วมดูแลรักษาป่าในพื้นที่ที่เหลือ มิให้มีการบุกรุกเพิ่มเติม อีกต่อไป