• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ชาวบางกลอยอยู่กับป่าแบบพอเพียง ฟื้นคืนสภาพ “ใจแผ่นดิน” ให้สมบูรณ์ตามธรรมชาติ

พื้นที่บริเวณ “ใจแผ่นดิน” อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อยู่ใกล้บริเวณเขตชายแดนไทย – เมียนมา เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตั้งแต่อดีต ต่อมา พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณ “ใจแผ่นดิน” เกิดปัญหาชายแดนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ มีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนพบว่ามีกลุ่มคนเข้าไปตั้งเพิงพักใกล้ฐานปฏิบัติการใจแผ่นดิน บริเวณบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย

จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไม่เคยจดทะเบียนบ้านใจแผ่นดินไว้ในสารบบของกรมการปกครองแต่อย่างใด หน่วยงานความมั่นคงจึงได้เจรจาให้กลุ่มคนดังกล่าวลงมาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอย (ล่าง) ที่อยู่ในบริเวณใกล้กับบ้านโป่งลึก และมีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยกลุ่มคนจำนวน 57 ราย (ครอบครัว) ได้ยินยอมเคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย (ล่าง) และมีบางส่วนขอกลับไปอยู่อาศัยในฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในปี พ.ศ.2550 ปี พ.ศ.2561 ปี พ.ศ.2563 และต่อมาในปี พ.ศ.2564 ได้ทำการสำรวจอย่างครอบคลุมอีกครั้งเพื่อดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยได้ดำเนินการสำรวจการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎรในพื้นที่บริเวณบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี การถือครองที่ดินของผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินดั้งเดิมเมื่อปี พ.ศ.2539 จำนวน 57 ราย ได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีประชากรกลุ่มเดิม จำนวน 51 ราย ถือครองที่ดิน 104 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 494-0-97 ไร่ มีประชากรกลุ่มเดิม 3 ราย เสียชีวิตไปแล้ว และประชากรกลุ่มเดิมอีก 3 ราย ไปอยู่อาศัยกับญาติ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการขยายพื้นที่ทำกินของประชากรกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มดั้งเดิม 57 ราย เป็นครอบครัวขยายและครอบครองที่ดินเพิ่มเติม จำนวน 44 ราย 50 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 332-2-35 ไร่

นับเป็นเวลากว่า 20 ปี หลังการอพยพ ปัจจุบันป่าบริเวณ “ใจแผ่นดิน” ได้กลับฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พบร่องรอยหลักฐานชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีความจำเป็นสูงสุดต้องสงวนและคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวไว้ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในอุทยานแห่งชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลาย ประกอบกับพื้นที่รองรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดสรรโดยรัฐบาลในบริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) มีความเหมาะสม ในการอยู่อาศัยและทำกิน โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับชาวบ้านทุกวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด