• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่สุดอุทยานแห่งชาติฯ : EP.11 ดอยสูงเสียดฟ้า แหล่งค้นหาสายพันธุ์พิเศษ​ อุทยานฯ ดอยผ้าห่มปก

แม่ฝางคือ สุดยอดพุน้ำร้อนขนาดใหญ่จากใต้ผืนพิภพที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ในขณะที่ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อย่างผ้าห่มปกนั้นก็ยอดเยี่ยมไปด้วยสรรพชีวิตสายพันธุ์พิเศษเฉพาะมากมาย ซึ่งไม่มีที่ใดเสมอเหมือนอย่างผีเสื้อไกเซร์ผ้าห่มปก นกไต่ไม้สีสวย และนกกินปลีแดงหัวไพลิน ที่คุณจะพบเห็นได้ก็เฉพาะที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกเท่านั้น

ไอน้ำร้อน จากใต้ผืนพิภพที่พวยพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 40 เมตร ของบ่อน้ำร้อนฝาง ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก

ดอยผ้าห่มปก เดิมใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บนขุนเขาอันสลับซับซ้อนและสูงชันของทิวเขาแดนลาว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 524 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย​ และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ โดยประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2543 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 97 ของประเทศไทย

ม่านหมอกกำลังคืบคลานเข้าปกคลุม ทิวเทือกดอยที่เป็นบริวารของผ้าห่มปกตรงจุดชมทิวทัศน์ดอยกิ่วลมที่ความสูงประมาณ 2,100 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง

ท่ามกลางขุนเขาอันสูงชันและสลับซับซ้อนของทิวเขาแดนลาวที่ทอดตัวเป็นแนวยาวจากอำเภอฝางจนถึงอำเภอแม่อายนั้น คือที่ตั้งของดอยผ้าห่มปก อันหมายถึงขุนเขาและเทือกดอยที่ถูกปกคลุมด้วยกลุ่มก้อนเมฆและทะเลหมอกอันเย็นเยียบอยู่ตลอดเวลา

โป่งน้ำดัง น้ำตกหินปูนขนาดเล็กแต่สวยงามท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นที่บ้านแม่สูนน้อย​ โดยทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติ (Nature Trail) ไว้ให้เที่ยวชมด้วย

นอกจากอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกจะงดงามด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันหลายหลาก ทั้งบ่อน้ำร้อนฝางที่กว้างถึง 15 ไร่ มีบ่อใหญ่ที่ไอน้ำร้อนพวยพุ่งขึ้นสูงถึง 40 เมตรแล้ว ยังมีโถงถ้ำขนาดใหญ่ในชื่อห้วยบอน ที่อลังการไปด้วยหินงอกหินย้อยรูปทรงสวยงาม แปลกตามากมาย ส่วนสายน้ำตกน้อยใหญ่ก็งดงามท่ามกลางป่าผืนใหญ่สีเขียวสดใส ไม่ว่าจะเป็นนามะอื้น ปู่หมื่น โป่งน้ำดัง และตาดเหมย ในขณะที่ยอดดอยเด่นตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์​ ก็ตระการตาด้วยทิวทัศน์ของขุนเขาอันกว้างไกลไปจนสุดปลายขอบฟ้าอย่างดอยอ่างขาง ดอยลาง ดอยปู่หมื่น และดอยผ้าห่มปก​ ซึ่งมียอดสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศที่ 2,285 เมตรเหนือระดับทะเลปานกลาง

มรกตผ้าห่มปกหรือไกเซอร์อิมพีเรียล (Kaiser-l-Hind: Teinopalpus imperialis imperatrix) สายพันธุ์ผีเสื้อกลางวันหรือ Butterfly อันงดงามและโดดเด่นของดอยผ้าห่มปก ฝีเสื้อตัวเต็มวัยออกบินในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี​ โดยส่วนใหญ่จะพบบินหากินอยู่บนเรือนยอดไม้สูง​นานๆ ครั้งจึงจะลงมาดูดกินแร่ธาตุตามริมธารหรือลำห้วยในป่า

ที่โดดเด่นเหนือขุนเขาและเทือกดอยทุกลูกในภาคเหนือ​ คือ เป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่พิเศษสุด โดย​เฉพาะกลุ่มที่หายากหรือเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (rare and endangerspecies) และสายพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic species) ทั้งพืชและสัตว์ที่ไม่พบในส่วนอื่นใดของประเทศ เช่น เทียนผ้าห่มปก (Impatiens phahompokensis) ม่วงสอดสี (Petrocosmea bicolaor) นกกินปลีแดงหัวไพลิน (Fire-tailed Sunbird) นกจู๋เต้นลายจุด (Spotted Elachura)​ ด้วงคราม (Enoplotrupes sharpi) ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปก (Kaiser-I-Hind) ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ (Brown Gorgon) ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน (Blue​ Peacock และผีเสื้อปุยเมฆสีส้ม (Dark Clouded Yellow) ซึ่งนอกจากจะเป็นผีเสื้อสกุล (Genus)​ ใหม่ของไทยแล้วยังเป็นสกุลใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

การเดินทางจากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ให้ตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ถึงฝางแล้วให้ใช้เส้นทางฝาง-ม่อนปิ่นอีกประมาณ 300 เมตร จึงเลี้ยวขวาเข้าไปตามถนน รพช. หมายเลข 4055​ อีก 7 กิโลเมตร จึงจะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้กับบ่อน้ำร้อนฝาง

ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด