• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ เข้าตรวจสอบช้างสีดอบุญมี หลังถูกล่ามโซ่อยู่ในสวนสัตว์

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า เปิดเผยว่าได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำผิดความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (เหยี่ยวดง) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ (พญาไท) กรมปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดสมุทรปราการ เข้าตรวจสอบการเลี้ยงดูช้างของฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ ตำบลบ้านท้าย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ หลังได้รับการประสานจากชุดปฏิบัติการพิเศษ (พญาไท) กรมปศุสัตว์ ว่ามีการโพสต์ข้อความและรูปภาพการรักษาช้างสีดอบุญมี ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวรายหนึ่ง ซึ่งมีแผลที่เกิดจากโซ่ล่ามขาได้รับบาดเจ็บ และช้างที่เลี้ยงไว้จำนวน 4 ตัวทีลักษณะผอม ซึ่งเข้าข่ายเป็นการทารุณกรรมสัตว์ หรือมีการเลี้ยงดูที่ผิดระเบียบกฎหมาย

โดยเจ้าหน้าที่พบช้างทั้งหมด 4 เชือก ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะผอมกว่ามาตรฐาน และสภาพพื้นที่อยู่อาศัยของช้างไม่มีการทำความสะอาดสิ่งปฏิกูลพื้นที่คอกอย่างสม่ำเสมอ จากการสอบถามผู้เลี้ยงช้างแจ้งว่าได้มีการให้อาหารเป็นประจำ ได้แก่ หญ้า กล้วย และกากสัปปะรด วันละ 2 รอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้งดการให้กากสัปปะรดเนื่องจากจะทำให้ช้างท้องอืด แต่ควรให้หญ้าสดในน้ำหนักที่เหมาะสมกับน้ำหนักตัว และควรให้อาหารเสริมเพิ่มเติม ส่วนการที่มีผู้โพสต์ข้อความลงโซเชียลว่าช้างเกิดการบาดเจ็บที่ขาจากโซ่ที่ตรึงที่ขาช้างนั้น ได้มีการสลับขาของช้างแล้วและได้มีการรักษาจากสัตวแพทย์ และช้างไม่ได้มีอาการของความเครียดให้เห็นเด่นชัดด้วยนั้น จึงไม่เป็นการเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์ แต่ได้กำชับกับผู้เลี้ยงว่าควรลดการใส่โซ่ตรึงไว้ที่ขาเป็นเวลานาน เพื่อลดอาการบาดเจ็บและไม่เป็นการเพิ่มความเครียดให้กับตัวสัตว์ต่อไป

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การเลี้ยงดูช้างทั้ง 4 เชือก ดังกล่าว มีความผิดด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสมตามมาตรา 22 ซึ่งเจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท ทั้งนี้เจ้าของจะต้องไปเสียค่าปรับที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสมุทรปราการ ภายในระยะเวลา 15 วัน และให้ดำเนินการจัดการสวัสดิภาพสัตว์อย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด