• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานแห่งชาติฯ ย้ำสัตว์ต่างประเทศสามารถเลี้ยงได้ แต่ต้องแจ้งนำเข้าให้ถูกต้อง

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตามที่ ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด่านกักกันสัตว์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเจ้าหน้าที่ด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ร่วมกันจับกุม หญิงชาวยูเครน พร้อมของกลางเป็นเต่ามีชีวิต ประกอบด้วย เต่าดาวรัศมี จำนวน 14 ตัว เต่าแพนเค้ก จำนวน 98 ตัว และเต่ายักษ์อัลดาบรา จำนวน 4 ตัว รวมทั้งสิ้น 116 ตัว เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 และเช้าวันนี้ได้จับกุมชายชาวอินเดีย พร้อมของกลางเต่าดาวอินเดีย จำนวน 81 ตัว มูลค่าของกลางรวมกว่า 1.7 ล้านบาท โดยผู้ต้องหาได้ลักลอบนำเต่าซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระมาจากต่างประเทศ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะพบความผิดปกติจึงตรวจสอบและจับกุมดังกล่าว

นายประเสริฐ กล่าวว่าจากการจับกุมดังกล่าวทั้ง 2 คดี ในเวลาใกล้กันทำให้เห็นว่าเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ก็มีการเริ่มเดินทางกันมากขึ้นยังทำให้การลักลอบค้าสัตว์ป่ามากขึ้นอีกทั้งยังมีมูลค่าค่อนข้างสูง ซึ่งของกลางเต่ามีชีวิตที่ตรวจยึดได้ในครั้งนี้มีมูลค่าสูงตัวละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ได้ตระหนักและมีมาตรการเข้มข้นมากขึ้นซึ่งสัตว์ดังกล่าวสามารถลักลอบขนย้ายผ่านทางสายการบินได้ แต่ก็ถือว่าโชคดีที่ได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศุลกากรในการตรวจสอบสิ่งมีชีวิตที่ซ่อนอยู่ในกระเป๋าผ่านเอกซเรย์ โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบให้มากยิ่งขึ้นและต้องดูเส้นทางว่าส่งมาจากประเทศต้นทางคืออะไรซึ่งแต่ละประเทศก็มีหน่วยงานไซเตสอยู่โดยจะได้หาแนวทางป้องกันร่วมกันต่อไป โดยยังได้กล่าวย้ำว่า การเลี้ยงสัตว์ต่างประเทศในขณะนี้ยังถือว่าไม่ผิดกฏหมาย แต่จะต้องมีการแจ้งส่งออกและแจ้งนำเข้าประเทศตามบัญชีไซเตสให้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ที่ยังมีการลักลอบนำเข้านั้นอาจจะเป็นเพราะที่มาของสัตว์ต่างๆ ไม่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ที่ถูกต้อง หรืออาจจะเป็นสัตว์ตามธรรมชาติของประเทศนั้นๆ

ด้าน สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ สัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า ได้รับมอบของกลางดังกล่าว ซึ่งจะต้องตรวจดูสุขภาพเต่าทั้งหมดเป็นอันดับแรก ซึ่งจะต้องนำมาแช่น้ำอุ่นผสมกับพวกวิตามินเพื่อรักษาอุณหภูมิ และต้องระวังเรื่องการขาดน้ำเพราะว่าเต่าถูกขนส่งมาค่อนข้างนานอาจจะเกิดการขาดน้ำ และสังเกตอาการว่ามีความปิดปกติหรือไม่ ซึ่งพบว่าเต่าทุกตัวมีการตอบสนองดี โดยอาจจะต้องดูแลสุขภาพไปสักระยะ เพื่อให้ปรับสภาพสภาพให้ดีขึ้นก่อนที่จะส่งต่อไปยังสถานีเพาะเลี้ยงหรือศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด