• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

วันที่ 19 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยนายสมหวัง เรืองนิวัติศัย รองอธิบดีฯ นายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผู้ตรวจราชการกรมฯ นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายสมศักดิ์ สกุลวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ นายพรเทพ เจริญสืบสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง และนายติณณ์ วงรินยอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน ให้การต้อนรับ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติสาละวิน ในโอกาสนี้ รมว.ทส. ยังได้มอบเสบียงอาหาร และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ พร้อมพบปะพูดคุยกับกลุ่มเครือข่ายชุมชน ณ อุทยานแห่งชาติสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ภาคเหนือ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2565 โดยเฉพาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียม ซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบว่า จ.แม่ฮ่องสอน ยังคงเป็นจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดทางภาคเหนือ ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้บดบังทัศนวิสัยในพื้นที่ อีกทั้งเริ่มส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ขณะที่ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศ และภูมิศาสตร์สารสนเทศกรมควบคุมมลพิษ ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง ล่วงหน้าระบุว่า ในช่วงวันที่ 20-22 มีนาคม 2565 สถานการณ์ฝุ่นละอองจะอยู่ในขั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และกำชับให้ยกระดับการทำงานเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในทุกมิติ อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ทั้งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัดอย่างเต็มที่ ให้ศูนย์ปฏิบัติการ ทส. (ส่วนหน้า) กำกับการวางกลยุทธ์ป้องกัน ควบคุม และดับไฟป่า การเคลื่อนย้ายสรรพกำลัง การประสานงานสนธิกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นและท้องที่อย่างใกล้ชิด และดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติงานอย่างสูงสุด รวมถึงการเตรียมพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทุกประเภท ให้อยู่ในสภาพดี พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ตลอดจนระดมเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ในสังกัดกระทรวงฯ สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ในทุกระดับ

นอกจากนี้ ยังให้รณรงค์สร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มคนจุดไฟเผาป่า ที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความเข้าใจ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งประชาชน และภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ พร้อมบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับกลุ่มผู้กระทำผิดที่ฝ่าฝืนเผาป่าในช่วงห้ามเผา ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดย จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการออกประกาศ ห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิด ยกเว้นพื้นที่ตามแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงมาตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.- 30 เม.ย.2565 รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และให้ขยายการดำเนินงานโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร ตลอดจนเร่งดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างบริษัท SCG กับ ทส. เพื่อการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ จูงใจพี่น้องประชาชนในการให้ความร่วมมือเก็บเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนใช้บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นองค์ความรู้ในการกำหนดแผนงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาหมอกควันให้ได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำถึงความห่วงใยและการให้ความสำคัญของรัฐบาล โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ด้วยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และ แผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2565 “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” โดย 1 สื่อสาร คือ เพิ่มประสิทธิภาพการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 5 ป้องกัน คือ ให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง บรรจุในแผน ปภ.จังหวัด ขยายผลการบริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยการเก็บขน (ชิงเก็บ ลดเผา) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน Burn Check ในการลงทะเบียนบริหารจัดการเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ยังได้เร่งรัดการขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า ภายใต้ ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) สร้างเครือข่ายและอาสาสมัคร เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกเพื่อลดปัญหา PM 2.5 ส่วน 3 เผชิญเหตุ คือ เพิ่มความเข้มงวดควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดทั้งจากยานพาหนะ และภาคอุตสาหกรรมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ และกำหนดตัวชี้วัดร่วม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และขยายหมู่บ้านคู่ขนานชายแดน ภายใต้กรอบคณะกรรมการชายแดน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด