วันที่ 11 มีนาคม 2565 นายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เข้าดำเนินการเก็บหน่วยความจำ จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ (Camera Trap) บริเวณแปลงทุ่งหญ้า หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว เพื่อติดตามการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ภายหลังจากการที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำแหล่งน้ำ และการปรับปรุงแหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่
ข้อมูลที่บันทึก พบมีการเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของสัตว์ป่าชุกชุม ส่วนมากเป็นช้างป่า กระทิง และกวางป่า ซึ่งจากภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว พบว่าช้างป่าเริ่มเข้ามาใช้ประโยชน์ และกินหญ้าพื้นที่แปลงหญ้าอาหารสัตว์ป่า ซึ่งในพื้นที่มีการจัดการที่เป็นระบบมีการวางแผน รวมทั้งการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ เพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า
ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องตามแนวดำเนินการจัดการและการแก้ไขปัญหาช้างป่า ภายใต้แผนการจัดการช้างป่าระดับกลุ่มป่า พ.ศ. 2563-2572 (แผน 10 ปี) ครอบคลุมทุกพื้นที่กระจายของช้างป่าในประเทศไทยทั้ง 13 กลุ่มป่า ทั้งในและนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1) การจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประกอบด้วย การติดตามประชากรช้างป่า จัดทำและปรับปรุงสิ่งกีดขวาง การฟื้นฟูสภาพถิ่นอาศัยของช้างป่า (แหล่งน้ำ แหล่งอาหาร) การศึกษาศักยภาพในการรองรับช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ 2) การจัดการนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน (อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่ากลับคืนสู่ธรรมชาติ) การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างเครือข่ายข้อมูลในการเฝ้าระวังภัยจากช้างป่า