วันที่ 4 สิงหาคม 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งข่าวดี เรื่องการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 ณ เมืองโบโกร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้ ได้มีการพิจารณารับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) ของประเทศไทย จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57 ในลำดับต่อไป โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ประเทศไทย จะได้รับการรับรองและประกาศพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน อย่างเป็นทางการในระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASEAN Ministerial Meeting on the Environment: AMME) โดยมีกำหนดการประชุมในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สำหรับลักษณะโดดเด่นของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง และที่เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้คือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา
ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 96.65 และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤษี สนสามพันปี รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ และในพื้นที่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง(แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
ทั้งนี้ในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก