26 พฤษภาคม 2568 – นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในโอกาสที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 12 (12th ASEAN Heritage Park Committee Meeting: 12th AHPCM) ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมฮิลตัน กรุงเทพ แกรน อโศก กรุงเทพมหานคร การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน จาก 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมสังเกตการณ์ประเทศไทย
ในฐานะเจ้าภาพ ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยมีประเทศเวียดนามซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งหน้าทำหน้าที่เป็นรองประธานการประชุม สาระสำคัญของการประชุมมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานในอุทยานมรดกอาเซียน การรายงานความก้าวหน้าโครงการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการหารือและกำหนดทิศทางการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองในภูมิภาคอาเซียน
ในโอกาสนี้ ประเทศไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมถึงความประสงค์ที่จะนำเสนอ “อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่” เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลต่างๆ ตามระเบียบและข้อกำหนดของคณะกรรมการมรดกอาเซียน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกอาเซียนว่า ต้องผ่านขั้นตอนการคัดเลือกพื้นที่, จัดทำเอกสารผ่านสำนักนโยบายและแผนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญจาก ACB (ASEAN Center for Biodiversity), การพิจารณาโดยคณะกรรมการมรดกอาเซียน (AHP Committee), การเห็นชอบจากคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (AWGNCB), การรับรองจากคณะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (ASOEN), และสุดท้ายคือการรับรองและประกาศขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการโดยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม (AMME) กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่และข้อมูล ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนแล้ว 10 แห่ง โดย 9 แห่งอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แก่
– อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (ประกาศปี พ.ศ. 2527)
– อุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ประกาศปี พ.ศ. 2527)
– อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ – อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (ประกาศปี พ.ศ. 2546)
– กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) (ประกาศปี พ.ศ. 2546)
– อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (ประกาศปี พ.ศ. 2562)
– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง (ประกาศปี พ.ศ. 2562)
– อุทยานแห่งชาติเขาสก (ประกาศปี พ.ศ. 2564)
– เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว (ประกาศปี พ.ศ. 2566)
– อุทยานแห่งชาติภูกระดึง (ประกาศปี พ.ศ. 2566)
และลำดับที่ 10 คือ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี จังหวัดสมุทรปราการ
ซึ่งได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567
นายอรรถพล กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์พื้นที่ อุทยานมรดกอาเซียนของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมความรู้ เพิ่มประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการพื้นที่อนุรักษ์กับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในอนาคต และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2568 จะมีการจัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ณ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดและสวนพฤกษศาสตร์ระยอง จังหวัดระยอง นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2568 จะมีการประชุมคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB) ซึ่งเป็นการประชุมเชิงนโยบายต่อเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียนกรมอุทยานฯ และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะร่วมจัดนิทรรศการ “อุทยานมรดกอาเซียนในประเทศไทย” ณ บริเวณพื้นที่จัดการประชุมด้วย
การขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียนจะช่วยเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ในหลายมิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่, ด้านการมีส่วนร่วม โดยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นคุณค่าและเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการอนุรักษ์ทรัพยากร การเสริมสร้างพันธมิตร โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน การพัฒนาศักยภาพ โดยสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และโอกาสในการได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการอุทยานมรดกอาเซียน ประโยชน์เหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เข้มแข็งในทุกด้าน เพื่อประโยชน์ของประเทศและภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
สำนักอุทยานแห่งชาติ – National Parks of Thailand