• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ร่วมถอดบทเรียน​หมอกควันไฟป่า ขานรับนโยบาย “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา”

วันที่ 23 สิงหาคม​ 2564​ ​นาย​ธัญญา​ เนติ​ธรรม​กุล​ อธิบดี​กรม​อุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และ​พันธุ์พืช​ พร้อมด้วย นายสมหวัง​ เรือง​นิ​วัติ​ศัย​ รองอธิบดี​ฯ​ นายศักดิ์ชัย จงกิจวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายสมชาย โกมลคงอยู่ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระบบการป้องกัน ปราบปราม และจัดการไฟป่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง​ เข้าร่วมการประชุมเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2564 ​ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น​ประธาน​การประชุม และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานต่างๆ จากทุกกระทรวง ร่วมด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และ ผู้ว่าราชการจังหวัด​ ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ณ ห้องประชุม​ ชั้น​ 2​ อาคาร​ศูนย์​ปฏิบัติการ​ กรม​อุทยาน​แห่งชาติ​ สัตว์ป่า​ และ​พันธุ์พืช​

 

โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงาน ยึดหลักการทำงานร่วมกัน คือ “ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การป้องกันสุขภาพ อนามัย ของประชาชนให้มีความปลอดภัยสูงสุด ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ เน้นย้ำถึงการยกระดับ Single Command ที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องสามารถติดตามสถานการณ์ และสั่งการไปยังท้องถิ่นระดับล่าง ได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน โดยเฉพาะการควบคุมแหล่งกำเนิดการเผา มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดต่อยานยนต์ที่มีควันดำ ควบคุมและป้องกันการเผา/บุกรุกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ผลผลิตทางการเกษตร ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยสารพิษออกสู่บรรยากาศ พัฒนาระบบคาดการณ์สภาวะอากาศ ที่มีการสะสมฝุ่นละอองล่วงหน้าให้ได้ 3-7 วัน รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อการแจ้งเตือน และการรักษาผู้ป่วยจากฝุ่นละออง เป็นต้น

นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า การป้องกัน “หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง” นับเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การนำบทเรียนจากอดีต มาทบทวน แก้ไขแผนงาน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงแผนให้มีความทันสมัย และจะต้องมีการซักซ้อมแผน เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้จริง ควบคู่มาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย โดยต้องนำผลสรุป “การถอดบทเรียน” ไปบูรณาการทำงานร่วมกัน และยึดหลักการ”ขยายผล พัฒนา ขจัดปัญหา” พร้อมขอให้มีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความตระหนก และสร้างความเชื่อมั่น ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด