วันที่ 2 มกราคม 2568 เวลา 17.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ศูนย์บัญชาการส่วนหน้าวัดคลองตามั่น ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ และติดตามสถานการณ์ รวมถึงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา และนายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
สำหรับการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาช้างป่าจังหวัดปราจีนบุรีครั้งนี้ จะทำการเคลื่อนย้ายช้างป่าที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่ จำนวน 2 ตัว โดยกรมอุทยาน ฯ ได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 200 นาย ประกอบด้วย ทีมสัตวแพทย์และสัตวบาล 11 นาย ทีมวิเคราะห์สำรวจพื้นที่ และทีมชักลากขาช้าง 100 นาย จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 และ 2 นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านโปร่งสะเดา ร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
แผนการดำเนินการประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก เริ่มจากการสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาและระบุตัวช้างป่า จากนั้นทีมสัตวแพทย์จะทำการวางยาสลบช้างก่อนการเคลื่อนย้าย โดยมีทีมชักลากขาช้างและเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือในการยกช้างขึ้นรถ และสุดท้ายจะทำการขนย้ายช้างเพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา
สำหรับอุปกรณ์และยานพาหนะที่ใช้ในปฏิบัติการประกอบด้วย รถน้ำ 1 คัน รถกระเช้า 1 คัน และรถแบคโค 1 คัน โดยขณะนี้การปฏิบัติการอยู่ในขั้นตอนการค้นหาและระบุตัวช้างป่า ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่จะรายงานความคืบหน้าของการปฏิบัติการเป็นระยะต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานว่า ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่ารบกวนพี่น้องประชาชน จะมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า จำนวน 86 ชุด และอยู่ระหว่างยื่นคำขอเพิ่มเติมอีกจำนวน 98 ชุด เพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงซึ่งมีช้างออกนอกพื้นที่จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ด้วยการจ้างเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า จำนวน 297 อัตรา และสนับสนุนอุปกรณ์ประจำชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า จำนวน 100 ชุด (โดย 1 ชุด ประกอบด้วย อากาศยานไร้คนขับพร้อมกล้องตรวจจับความร้อนและระบบสื่อสาร, กล้อง thermal แบบส่องกลางคืน, เครื่องรับส่งวิทยุชนิดมือถือ, กล้อง action camera, โทรโข่ง, ไฟฉาย, เป้สนาม ฯลฯ) รวมถึงฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า อีกจำนวน 30 รุ่น และฝึกอบรมเครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 214 เครือข่าย จำนวน 30 รุ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เป็นแนวทางสำคัญในการลดความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่ผ่านมาได้มีการจัดชุดผลักดันช้างป่าและเครือข่ายฯ รอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวน 214 เครือข่าย และปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 227 เครือข่าย