วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานเปิด “โครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวน” และ “เปิดอาคารศูนย์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol Center)” โดยมีนายรุ่งโรจน์ อัศวกุลธารินท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวรายงาน หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่ง ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ผู้แทนจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) คณะวิทยากรครูฝึก เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าร่วม ณ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร
นายอรรถพล เจริญชันษา กล่าวว่า งานลาดตระเวนเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่เป็นงานที่มีความสำคัญยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะด้านต่าง ๆ และต้องใฝ่หาความรู้และเทคนิคเพิ่มเติม เพื่อปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้ทันสมัย สอดคล้องกับภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต การฝึกอบรมครั้งนี้จึงมีความจำเป็นและสำคัญ ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านมีความตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจและเอาใจใส่ตลอดการฝึกอบรม เพื่อให้ได้รับความรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมกันจัดให้มีการฝึกอบรมที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) นับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญในการดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นนโยบายที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร ฐานข้อมูล และการจัดการอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งและป้องกันการทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าอันเป็นสมบัติล้ำค่าของคนไทยทุกคนการขับเคลื่อนและดำเนินงานข้างต้น นอกเหนือจากทางภาครัฐแล้ว องค์กรอนุรักษ์และเครือข่ายต่าง ๆ นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้การทำงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ในองค์ประกอบหนึ่งของระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพนั้น จำเป็นต้องมีศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล การประชุม วิเคราะห์ประมวลผล ภายใต้การแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันสมัย โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีเครื่องมือและสถานที่ที่เหมาะสมในการดำเนินงาน ซึ่งกระผมจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง และยินดีสนับสนุนในการที่ทางอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ได้ร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWFประเทศไทย) ทำการปรับปรุงพัฒนาห้องประชุมศูนย์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพนี้ขึ้น และยังนับเป็นตัวอย่างหนึ่ง ในความร่วมมือในการพัฒนาระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ผมขอให้กำลังใจทางพื้นที่คุ้มครองที่เห็นความสำคัญและอุทิศกำลัง ความรู้ความสามารถในการปกป้องทรัพยากรที่สำคัญนี้ รวมทั้งขอขอบคุณ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) ที่ได้สนับสนุนงานด้านอนุรักษ์กับภาครัฐอย่างเข้มแข็ง และมุ่งมั่นในหลากหลายผลงานในตลอดเวลาที่ผ่านมา และขออวยพรให้ศูนย์ลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol Center) แห่งนี้ ทำหน้าที่สนับสนุนภารกิจการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ที่สูงสุดในการปกป้องทรัพยากรของประเทศไทยต่อไป
“โครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หลักสูตรเทคนิคการลาดตระเวน” จัดโดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ร่วมกับศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ โดยการสนับสนุนจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF ประเทศไทย) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนให้มีทักษะ กลยุทธ์ และเทคนิคในการลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า โดยได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรครูฝึกจากศูนย์ควบคุมมาตรฐานการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ –2 มีนาคม 2567 รวม 5 วัน มีเจ้าหน้าที่เข้ารับการฝึกอบรมจำนวนทั้งสิ้น 45 นาย จากอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียง โดยมีหลักสูตรการฝึกอบรม อาทิ ระเบียบวินัย การปฏิบัติการโดยฉับพลัน การปิดล้อมจับกุมผู้กระทำผิด และเทคนิคพื้นฐานในการลาดตระเวน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าการอบรมมีทักษะและความชำนาญในด้านการใช้ยุทธวิธี การต่อสู้ป้องกันตัว การตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิด พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ระเบียบวินัย และเตรียมความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจให้กับเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามในพื้นที่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย