วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าพร้อมนำความห่วงใยส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานดับไฟป่า โดยมีนายพนม โพธิ์แก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี นายอนันต์ โพธิ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายนฤพนธ์ ทิพย์มณฑา ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปราม และควบคุมไฟป่า นายนครินทร์ สุทัตโต ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
สืบเนื่องจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ เกิดสถานการณ์ไฟรุนแรงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ หน่วยงานในพื้นที่ได้บูรณาการได้ร่วมกันควบคุมสถานการณ์ไฟป่าให้อยู่ในภาวะปกติแล้ว ปัจจุบันไม่ปรากฎจุด Hotspot ในพื้นที่ สำหรับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ไฟป่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ท้องที่ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีจุดความร้อน (Hotspot) สะสม เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 992 จุด โดยสถานการณ์ไฟป่าเริ่มรุนแรงประมาณวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นมา โดย War Room อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้บูรณาการหน่วยงานเพื่อดำเนินการดับไฟป่า ซึ่งมีหน่วยงานทั้งสิ้น 25 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภายในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อาทิ เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และอุทยานแห่งชาติข้างเคียง ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า จำนวน 12 ศูนย์ สถานีควบคุมไฟป่าในพื้นที่และข้างเคียง จำนวน 4 สถานี รวมจำนวน 345 นาย ร่วมกับหน่วยงานปกครอง อำเภอศรีสวัสดิ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร และราษฎรในพื้นที่ ดำเนินการดับไฟในพื้นที่ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนการดับไฟด้วยอากาศยานในการทิ้งน้ำเพื่อลดความรุนแรงของไฟป่า ลำเลียงกำลังพล และขนส่งเสบียงอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ร้อยเอก รชฎ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีไฟป่าเกิดขึ้นหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณบ้านปานา ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน เทือกเขาสลับซับซ้อน การเข้าถึงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก จำเป็นต้องทำการส่งเจ้าหน้าที่โรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงในพื้นที่ เพื่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราวในพื้นที่ สำหรับใช้ในการลำเลียงกำลังพล เสบียงอาหาร สร้างฐานรับส่งวิทยุเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่าง War Room กับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวนจุด Hotspot ลดลงในเช้าวันนี้ เหลือจำนวนจุด Hotspot จำนวน 4 จุด ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าได้ แต่ยังคงเฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มข้นและเข้าถึงพื้นที่ดับไฟได้ทันท่วงที รวดเร็ว ภายใต้หลักการที่ว่า “เห็นไว เข้าถึงไว ควบคุม และดับได้ไว” ทั้งนี้กรมอุทยานฯ ได้กำชับให้ทุกวอร์รูมจะต้องมีความพร้อมในการประเมินสถานการณ์ว่าจุดใดเป็นจุดเฝ้าระวังในช่วงเวลาใด และมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายไปเฝ้าระวังในจุดเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดไฟป่ามากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการป้องกันไฟป่า รวมถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการลดพื้นที่เผาไหม้ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566 ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ