• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อธิบดีฯ ‘อรรถพล’ เร่งแก้ปัญหาช้างป่า มอบนโยบายทิศทางการจัดการช้างป่าอย่างบูรณาการ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานการประชุมทิศทางการจัดการช้างป่าอย่างบูรณาการ โดยมี นางรุ่งนภา พัฒน์วิบูลย์ รองอธิบดีฯ พร้อมด้วย นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายสว่าง กองอินทร์ ผู้ตรวจราชการกรมฯ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 นางสาวสมหญิง ทัฬหิกรณ์ รักษาการในตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 401 อาคารศูนย์ปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติฯ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีปัญหาเรื่องช้างป่าเข้าร่วมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference)

โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ผลการดำเนินงาน และแผนการดำเนินปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พร้อมทั้งสอบถามและซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ อทช. รกท. ออส.  ได้มอบนโยบายทิศทางการจัดการช้างป่าอย่างบูรณาการ โดยให้นำเอาโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ของ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาช้างป่าในกลุ่มป่าอื่นๆ พร้อมทั้งสั่งกำชับในการทำโครงการต่างๆในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์รบกวนประชาชน ให้นำเอาทุกโครงการเข้าที่ประชุมคณะกรรมการช้าง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการกลั่นกรองเพื่อพิจารณาดูความเหมาะสมทุกครั้ง

สำหรับสถานการณ์ช้างป่าในปัจจุบัน ในประเทศไทยมีช้าวป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,208 – 3,480 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง และภายในพื้นที่ป้าสงวนแห่งชาติบางแห่ง มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างปาราว 52,000 ตารางกิโลเมตร กระจายในพื้นที่ 13 กลุ่มป่า โดยกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป้าได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน มีแนวโน้มประชากรช้างป่าในประเทศไทยในภาพรวมมีการเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากอดีต อย่างไรก็ตามประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและพบพื้นที่ประสบปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่งทั่วประเทศ (พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 29 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 แห่ง)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด