หากภูกระดึงแห่งเมืองเลย คือ ตัวแทนของแดนอีสาน ที่เป็นสุดยอดของความท้าทายในการปีนป่ายและวัดใจนักเดินทางให้ขึ้นไปพิชิต ภูสอยดาวก็คือ ตัวแทนของแดนล้านนาที่ท้าทาย นักนิยมธรรมชาติให้ไปเหยียบยืนบนยอดสุดที่ 2,102 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง ท่ามกลางบรรยากาศอันแสนประทับใจของป่าสนผืนงาม และความหนาวเย็นเยียบ
ภูสอยดาว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 340.2128 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอบ้านโคก และอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ กับอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก โดยเป็นภูเขาและป่าไม้ผืนสมบูรณ์ถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อที่รวมทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ราบ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 109 ของไทย
ในวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2551
ภาพความงามพิสุทธิ์ของสายหมอกที่โรยตัวลงคลอเคล้าป่าสนกว้างใหญ่ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี ซึ่งมีมวลดอกไม้ผลิพร่างขึ้นรับสายฝนเย็นฉ่ำคือ มนต์เสน่ห์สุดขลังของทุ่งดอกไม้บนภูสอยดาวอันสูงชัน
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีสภาพภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อนชายแดนประเทศลาว โดยมีส่วนของยอดภูสอยดาว ความสูง 2,102 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง เป็นยอดเขาสูงที่สุดในพื้นที่ ก่อให้เกิดสภาพอากาศหนาวเย็น เหมาะสมต่อการเติบโตของป่าดงดิบเขาและป่าสนเขา อันเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำปาดที่หลากไหลอยู่ตลอดปี
ความงดงามของทะเลดอกไม้บนป่าสนภูสอยดาวจะสมบูรณ์มากที่สุดในช่วงกลางฤดูฝนระหว่าง เดือนสิงหาคม – กันยายน ซึ่งแม้จะทำให้การเดินทางยากลำบาก แต่เป็นช่วงที่ภูสอยดาวกลับมีทัศนียภาพสวยงามที่สุด เนื่องจากตามทุ่งหญ้าเขียวขจีในป่าสนจะมีดอกหญ้าหงอนเงือก หรือน้ำค้างกลางเที่ยงสีชมพูอ่อนแซมสลับกับดอกกระถินทุ่งสีเหลืองสดใส สะพรั่งดอกไปทั่วหลังภู ยิ่งในยามเช้าสายหมอกขาวและไอเย็นจะห่มคลุมป่าสนและทุ่งด้อกหญ้าหงอนเงือกเอาไว้งดงามราวสวนสวรรค์
อย่างไรก็ตาม หนทางเดินป่าขึ้นสู่ภูสอยดาวนั้นยังลำบากมาก โดยเฉพาะในฤดูฝน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะขึ้นไปชมทุ่งดอกไม้จึงควรมีสุขภาพแข็งแรง เพราะแม้ระยะทางเดินขึ้นภูสอยดาวจะยาวแค่ 6.5 กิโลเมตร แต่เป็นหนทางชันขึ้นเขา ผ่านเนินสุดโหดต่างๆ เช่น เนินส่งญาติ เนินปราบเซียน เนินป่าก่อ เนินเสือโคร่ง และเนินมรณะ ใช้เวลาเดินระหว่าง 4-6 ชั่วโมง จึงจะล่วงขึ้นถึงยอดภูลักษณะราบเรียบคล้ายภูกระดึง เนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 1,000 กว่าไร่ เมื่อขึ้นถึงหลังภูแล้ว ภาพความงามของทุ่งหญ้าหงอนเงือกและป่าสนสามใบที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย คงจะเป็นเสมือนรางวัลช่วยเพิ่มพลังให้กลับฟื้นคืนได้เป็นแน่
การเดินทาง ตั้งต้นจากอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1047 ระยะทาง 68 กิโลเมตร ถึงสามแยกให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1239 จะเห็นโรงพยาบาลน้ำปาดอยู่ทางด้านขวามือ ตรงไปอีกประมาณ 47 กิโลเมตร จะพบสามแยก ให้เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1268 เข้าสู่อุทยานแห่งชาติ
ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)