• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานฯ หมู่เกาะสิมิลัน​ ปล่อย ‘ลูกเต่าตนุ’ ลงสู่ทะเล 52 ตัว หลังฟักไข่นานกว่า 61 วัน

วันที่ 25 สิงหาคม 2565​ นางรักชนก แพน้อย​ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน​ เปิดเผย​ว่า​ เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. ที่ผ่านมา​ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (เกาะเมียง) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา หลังพบไข่เต่าตนุ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 จำนวน 63 ฟอง ได้ฟักตัว จำนวน 52 ตัว ซึ่งรวมระยะเวลาการฟักไข่ 61 วัน และมีอัตราการรอดชีวิต 82 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ สล.1 (เกาะเมียง) ได้ดำเนินการปล่อยลูกเต่าตนุ จำนวน 52 ตัว ลงสู่ทะเลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เต่าตนุ เป็นเต่าทะเลชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chelonia mydas อยู่ในวงศ์ Cheloniidae และเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Chelonia เป็นเต่าทะเลที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากเมื่อโตเต็มที่ โดยมีความยาวตั้งแต่หัวจรดหางประมาณ 1 เมตร น้ำหนักราว 130 กิโลกรัม หัวป้อมสั้น ปากสั้น เกล็ดเรียงต่อกันโดยไม่ซ้อนกัน กระดองหลังโค้งนูนเล็กน้อย บริเวณกลางหลังเป็นแนวนูนเกือบเป็นสัน ท้องแบนราบขาทั้งสี่แบนเป็นใบพาย ขาคู่หลังมีขนาดเล็กกว่าขาคู่หน้ามาก ขาคู่หน้ามีเล็บแหลมเพียงข้างละชิ้น สีของกระดองดูเผิน ๆ มีเพียงสีน้ำตาลแดงเท่านั้น แต่ถ้าหากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าเกล็ดแต่ละเกล็ดของกระดองหลังมีสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลอมเขียว ขอบเกล็ดมีสีอ่อน ๆ เป็นรอยด่างและมีลายเป็นเส้นกระจายออกจากจุดสีแดงปนน้ำตาล คล้ายกับแสงของพระอาทิตย์ที่ลอดออกจากเมฆ จึงมีชื่อเรียกเต่าชนิดนี้ว่าอีกชื่อหนึ่งว่า “เต่าแสงอาทิตย์” ขณะที่ชาวตะวันตกเรียกว่า “เต่าเขียว” อันเนื่องจากมีกระดองเหลือบสีเขียวนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด