• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

กรมอุทยานฯ ประชุมเชิงปฏิบัติการ หาแนวทางเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดในสัตว์ต่างประเทศ

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดไวรัสโคโรนาและโรคติดเชื้อที่สำคัญในสัตว์ต่างประเทศ กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งจัดโดย กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา เพื่อให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ โรงพยาบาลสัตว์เอกชน สมาคมสัตวแพทย์ สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้ประกอบการในธุรกิจการค้าสัตว์ป่าต่างประเทศ และชมรม/สมาคมผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ชนิดพิเศษและสัตว์ป่าต่างประเทศ ได้รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวคิด ทฤษฎี และแนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาและโรคติดเชื้อที่สำคัญในสัตว์ต่างประเทศ กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ

โดย นายแพทย์ไพศิลป์ เล็กเจริญ นักระบาดวิทยาด้านสัตว์ป่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นวิทยากรบรรยายเน้นย้ำถึงความสำคัญและผลกระทบของโรคติดเชื้อจากสัตว์ต่างถิ่นทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์ การปศุสัตว์ การเดินทางและท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม โดยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่พบในประเทศไทยที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น เช่น Monkeypox, COVID-19, African Swine Fever, Peste de Petit Ruminants, African Horse Sickness และ Lumpy Skin Disease

ด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์นั้น นายสัตว์แพทย์เบญจพล หล่อสัญญาลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์พนาลัย และนายสัตวแพทย์รัฐนินทร์ พัชรกุลวรวัฒน์ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลสัตว์มายเพ็ทส์ (เคหะร่มเกล้า) ได้ให้ข้อมูลที่มีความสำคัญว่า บุคคลที่มีความใกล้ชิดกับสัตว์ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล/สถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยง หรือผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ย่อมมีความเสี่ยงติดเชื้อโรคที่มาจากสัตว์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมีทั้งจาก Bacteria, Virus, Fungus, Protozoa และ Parasite ตัวอย่างเช่น โรค Toxoplasmosis ที่พบในพาหะหลัก คือ กลุ่มแมว หากมีการติดเชื้อจะเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ทั้งในคนและสัตว์ นอกจากนี้ ยังพบว่า สัตว์บางชนิดมีความไวต่อการรับเชื้อจากคน หรือสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เฟอเรท (Ferret) ที่ไวต่อการติดเชื้อไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็นต้น

สัตวแพทย์หญิงณัฐกานต์ คุรุพันธ์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ด่านกักกันสัตว์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กองสารวัตร กรมปศุสัตว์ ได้บรรยายถึงการป้องกันโรคติดต่อจากการนำเข้าและนำผ่านสัตว์ป่าว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการดังกล่าวนี้ภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 บนหลักการพื้นฐานที่ว่า ประเทศต้นทางจะต้องปลอดโรค หรืออย่างน้อยสถานที่เพาะพันธุ์ หรือสถานที่กักกันต้องปลอดโรค สำหรับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ Ebola, MERS, Avian Influenza, COVID-19 และ Monkey Pox ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

สัตวแพทย์หญิงเสาวภางค์ สนั่นหนู หัวหน้าศูนย์เนื้อเยื่อสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ สถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ ได้บรรยายว่า องค์การสวนสัตว์ฯ จะดำเนินการกักกัน ตรวจโรค และฉีดวัคซีนเพิ่มเติมจากที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไปยังสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในสวนสัตว์ นอกจากนี้ ยังได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีการติดตามสถานการณ์และการระบาดของโรคอย่างใกล้ชิด รวมถึงการพัฒนาวิธีการตรวจโรคและการปรับปรุงระเบียบว่าด้วยการควบคุมโรคจากการนำเข้าสัตว์ป่าให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นางใกล้รุ่ง พูลผล ผู้อำนวยการส่วนบริหารอนุสัญญา กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงแนวคิดในการจัดทำ “ร่างแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาและโรคติดเชื้อที่สำคัญในสัตว์ต่างประเทศกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์เลื้อยคลาน” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการป้องกันโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยจะได้มีการประชุมหารือในรายละเอียดเพื่อจัดทำร่างแนวทางดังกล่าวเป็นลำดับต่อไป

ในช่วงการอภิปราย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อแนวทางการป้องกันโรคที่มาจากสัตว์ คือ ควรเพิ่มเติมมาตรการในการตรวจสอบโรคสัตว์ในฟาร์ม เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการพิจารณาอนุญาตส่งออก และควรมีประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนในเรื่องการตรวจสอบโรคในสัตว์แต่ละชนิด ควรจัดทำหลักเกณฑ์ (Criteria) เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคจากสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ความยากง่ายในการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ความรุนแรงเมื่อเกิดโรคในคนหรือสัตว์ การระบาดในช่วงระยะเวลานั้น ๆ ช่องทาง/วิธีการติดโรค ใช้วัคซีนหรือยารักษาทั่วไปในการรักษา เป็นโรคอุบัติใหม่หรือไม่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความพร้อมของห้องปฏิบัติการ หรือการวินิจฉัยโรค เป็นต้น และแสดงผลออกมาเป็นระดับการเฝ้าระวัง (ระดับยังไม่ให้ความสำคัญ ระดับเฝ้าระวัง และระดับออกประกาศอย่างชัดเจน) ทั้งนี้ ให้ดำเนินการโดยผ่านคณะกรรมการ/คณะทำงาน ที่แต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะ

ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการอนุญาต หรือให้ดำเนินการใด ๆ ให้มีความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่หน่วยงาน องค์กร และประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการในการให้ความร่วมมือกับองค์กรของภาครัฐ โดยเฉพาะการยินยอมและเต็มใจในการตรวจโรคสัตว์ และ ควรให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังโรคสัตว์ภายในประเทศเป็นหลัก โดยเน้นใน 3 ขั้นตอนหลัก คือ การกักโรค การสำรวจสัตว์ และการวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยง ซึ่งปัจจัยที่ควรนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยง เช่น โรคติดต่อในประเทศต้นทาง ความน่าเชื่อถือในการตรวจสอบโรคสัตว์ของแต่ละประเทศ ผลการตรวจสอบตรงตามโรคที่ขอตรวจ และความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคสัตว์ในห้วงเวลานั้น ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด