• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่สุดอุทยานแห่งชาติฯ : EP.08 อนุสรณ์สถานบนลานดอกไม้ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า

จากธรณีสัณฐานอันวิเศษสุดที่เกิดจากการเคลื่อนตัวและคดโค้งเปลือกโลก จนกลายมาเป็นเสาหินกลม ๆ เตี้ย ๆ กับรอยแตกลึก และเนินหินที่มีลวดลายเป็นปุ่มโปนแปลกตาของลานหินปุ่มและลานหินแตก ทำให้อดีตแห่งสมรภูมิอันดุเดือดแห่งนี้ กลายเป็นอนุสรณ์สถานบนลานดอกไม้ที่งดงามที่สุดของประเทศ

ดงตาเหินไหว (Hedychiumellipticum) อีกหนึ่งของพืชตระกูลขิงข่า (Zingiberaceae) ดอกสีขาวบริสุทธิ์ที่พร้อมใจกันเบ่งบานไปทั่วทั้งลานหินและบนเส้นทางเดินไปยังผาชูธง ในช่วงฤดูฝน

ภูหินร่องกล้า ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 307 ตารางกิโลเมตร ในเขตรอยต่อของ 2 จังหวัด คือ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2527 และเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 48 ของประเทศไทย

ชื่อของ “ภูหินร่องกล้า” ความจริงมิได้มีเฉพาะภูหินทรายอันสวยงามแห่งเทือกเขาเพชรบูรณ์เท่านั้น ทว่ายังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ศึกษา เกี่ยวกับการสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาล โดยปัจจุบันยังเหลือร่องรอยอดีตอยู่บริเวณลานหินปุ่ม ลานหินแตก ผาชูธง และโรงเรียนการเมืองการทหาร แต่เมื่อความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองยุติลง ที่นี่จึงได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในแหล่งธรรมชาติ ความเป็นที่สุดของภูหินร่องกล้าอยู่ที่ธรณีสัณฐานลานหินทรายซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวและคดโค้งของเปลือกโลก ไม่ว่าจะเป็น “ลานหินปุ่ม” ที่มีลักษณะเป็นเสาหินกลมมนเตี้ยๆ เรียงกันเป็นแถวเป็นแนวอย่างน่าดูชม โดยปุ่มหินดังกล่าวมีความสูงเพียง 15 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ลานหินปุมตั้งอยู่บนหน้าผาทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ จึงเป็นจุดชมอาทิตย์อัสดงที่งดงามน่าประทับใจยิ่ง

ปัดแดง หรือลิ้นมังกร (Habenaria rhodocheila) ที่ประดับประดาอยู่ตามโขดหินหน้าน้ำตกหมันแดงในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคม สีของกล้วยไม้ชนิดนี้มีความหลากหลายสูง หากเป็นบริเวณโขดหินริมน้ำในที่ร่ม ดอกจะเป็นสีชมพู แต่บริเวณลานหินในที่โล่ง ดอกจะเป็นสีแสดหรือเหลืองอมส้ม

ถัดมาคือ “ลานหินแตก” ที่มีลักษณะเป็นลานหินกว้างใหญ่เนื้อที่ถึง 40 ไร่ ล้วนเต็มไปด้วยรอยแตกร้าวเป็นร่องลึกบนพื้น เหมาะแก่การสะสมความชื้นจนมีพืชพวกไลเคน มอสส์ เฟิน และกล้วยไม้นานาชนิดเติบโตขึ้น และส่วนสุดท้ายคือ ซันแคร็ก (Suncrack) หรือเนินหินเตี้ย ๆ ที่มีลวดลายเป็นปุ่มโปนคล้ายเกล็ดงูขนาดยักษ์ ดูราวกับงานศิลปะอันวิจิตรบรรจงของธรรมชาติ

แมลงทับเจ็ดสีขุนลาว (Chrysochroa corbetti) แมลงปีกแข็งสีสวยในตระกูล Buprestidae ที่พบบริเวณน้ำตกตาดฟ้า
ดงปีโกเนีย (Begonia sp.) หรือ ส้มกุ้งดอกสีชมพูอ่อน ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ เต็มหน้าผาหินบริเวณใกล้กับหมู่บ้านมวลชน

แต่ลานหินทรายเหล่านั้นมิได้อยู่โดดเดี่ยว หากยังมีมวลไม้ดอกนานาชนิดงอกงามอยู่ด้วย โดยเฉพาะยามเมื่อฝนโปรยปรายลงมา ดอกไม้เล็ก ๆ จึงชูช่อดารดาษ ไม่ว่าจะเป็นเปราะภูสีขาวอ่อนหวาน เปราะหินดอกสีเหลืองสด ดอกเทียนน้อยสีชมพูสดใส มีพืชวงศ์ชิงช่า รูปร่างหน้าตาประหลาดอย่างตาเหินไหว รวมถึงกล้วยไม้ดินอันงดงามนานาชนิด เช่น อั้วดอกม่วง อั้วเหลืองอำพัน ม้าวิ่ง ช้างงาเดียว ที่ชอบแทรกกายขึ้นมาจากร่องหินทรายได้อย่างน่าอัศจรรย์ื บนเส้นทางภูหินร่องกล้า-ภูทับเบิก เป็นแหล่งดูนกชั้นเยี่ยมแห่งหนึ่ง และนกที่พบได้ที่นี่เป็นชนิดเด่น และอาจพบที่อื่นได้ยาก คือ นกเปล้าหางเข็ม นกแอ่นมาร์ตินพันธุ์เนปาล นกปีกสั้นเล็ก และนกระวังไพรปากแดงยาว

การเดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลก ใช้ทางหลวงหมายเลข 12 จนถึง กม. 68 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2013 ถึง กม. ที่ 28 เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2331 สู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด