• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่สุดอุทยานแห่งชาติฯ : EP.06 สวนสนบนภูหนาว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์

ภาพของป่าสนสามใบ ต้นใหญ่ยักษ์อายุร้อยปีเรียงตัวกันอย่างงดงาม ท่ามกลางม่านหมอกขาวอันนุ่มนวลละมุนละไมที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่เหนือท้องทุ่งหญ้าฝืนกว้าง ในยามเช้าที่ภูกุ่มข้าว คือ ตัวแทนที่บอกถึงเรื่องราวและความพิเศษเฉพาะของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวได้เป็นอย่างดี

ป่าเปลี่ยนสีบนทิวเขาเพชรบูรณ์ในช่วงปลายฤดูหนาว

น้ำหนาว เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2515 ครอบคลุมพื้นที่ 966 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอน้ำหนาว อำเภอหล่มสัก และอำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ กับพื้นที่บางส่วนในเขตอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 5 ของไทย

ป่าเกี๊ยะเปลือกแดงหรือสนสามใบ (Pinus kesiya) ผืนใหญ่

ท่ามกลางทิวเขาเพชรบูรณ์ตอนบนที่สลับซับซ้อน อันเป็นรอยต่อของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น ล้วนเต็มไปด้วยทิวเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นห่มคลุมอยู่เกือบตลอดปีและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มนต์เสน่ห์ของพงไพรในแถบนี้คือป่าสนบนภูเขาสูงซึ่งให้บรรยากาศแปลกตายากจะหาที่ใดมาเทียบเคียง

เห็ดมันปู (Cantharellus sp.) สีเหลืองสดใส พบได้ทั่วไปที่บริเวณภูค้อ ในช่วงฤดูฝน

ภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเอื้ออำนวยให้เกิดป่าสนกว้างใหญ่กระจายอยู่ทั่วภู และสามารถดึงดูดนักเดินทางได้เป็นจำนวนมาก จุดที่มีชื่อเสียงมากคือ บริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ที่มีดงต้นสนสามใบต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี บรรยากาศโปร่งโล่งของทิวสนที่ยืนต้นกระจายกันอยู่สร้างภาพที่สวยงามสบายตา ลักษณะของต้นสนสามใบมีเปลือกแตกเป็นเกล็ดคล้ายหนังจระเข้ ลำต้นสูงชะลูดกว่า 30-40 เมตร บนยอดภูกุ่มข้าวถ้าหันหน้าไปทางทิศใต้ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจุฬาภรณ์ได้อย่างชัดเจน

จาบคาหัวสีส้ม (Chestnut-headed Bee-eater : Merops leschenaulti) นกกินแมลงสีสวยในตระกูลนกจาบคา (Meropidae) หนึ่งในความหลากหลายของสายพันธุ์นกกว่า 300 ชนิดที่พบได้ในป่าน้ำหนาว

“สวนสนดงแปก” ตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูกุ่มข้าว มีต้นสนสองใบขึ้นอยู่รวมกันอย่างหนาแน่นผสมผสานกับสนสามใบ ต่อเนื่องกับป่าดิบแน่นทึบ ต้นสนเหล่านี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี จึงมีความสูงถึง 35-50 เมตร อีกทั้งมีขนาดใหญ่ และรูปทรงงดงามตระการตาเป็นอย่างยิ่ง

หินงอกหินย้อยอันงดงามที่ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ถ้ำที่มีความยาวเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือ “มหัศจรรย์ป่าเปลี่ยนสี” ที่ภูหลังกงเกวียน อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติช่วงต้นฤดูแล้ง ที่ใบไม้ในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณจะพากันผลัดใบจากสีเขียวกลายเป็นสีเหลือง ส้ม แดง สดใสฉูดฉาด ซึ่งเป็นทัศนียภาพน่ารื่นรมย์กว่าทุกช่วงในรอบปี และโหล่นกระทิงเปรียว ทุ่งหญ้าธรรมชาติ ที่สามารถชมทัศนียภาพที่สวยงามของป่าน้ำหนาวและภูผาจิตจุดสูงสุดของพื้นที่นี้

การเดินทาง ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองขอนแก่น 103 กิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก ประมาณ 55 กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงหมายเลข 12 ถึงหลัก กม. ที่ 50 มีป้ายชี้ทางเข้าสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ถ้าไปโดยรถประจำทาง สามารถขึ้นรถได้จากขอนแก่นหรืออำเภอหล่มสัก ซึ่งรถจะผ่านหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติทุกวัน

ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด