• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ที่สุดอุทยานแห่งชาติฯ : EP.05 มหัศจรรย์ชมพูภูคาและป่าปาล์มยักษ์ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา

ที่สุดของอุทยานแห่งชาติในเขตภาคเหนือฝั่งขวาต้องยกให้กับดอยภูคา ซึ่งนอกจากจะมียอดเขาที่สูงลิบลิ่วถึง 1,939 มตร จากระดับทะเลแล้ว ที่สุดของอุทยานแห่งชาติแห่งเมืองน่านนี้ ยังมากมายไปด้วยโถงถ้ำและน้ำตกงามนับสิบแห่ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมของพืชพรรณไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากมาย ทั้งกระโถนพรฤาษี เต่าร้างยักษ์ ก่วมภูคา และชมพูภูคาที่ว่ากันว่าสูญสิ้นไปจากโลกแห่งนี้แล้วนั้น ยังพบยืนต้นตระหง่านโดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวในโลก

ช่วงปลายมกราคม ป่าทั้งป่าของภูคาจะกลายเป็นสีแดงเพลิงด้วยก่วมภูคา (Acer pseudowilsonii) พันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นของที่นี่

ดอยภูคา ครอบคลุมพื้นที่รวม 8 อำเภอ ในเขตจังหวัดน่านคือ อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอแม่จริม อำเภอท่าวังผา อำเภอสันติสุข อำเกอบ่อเกลือ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2532 และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 94 ของไทย

อีกหนึ่งกิจกรรมอันสนุกสนานและน่าตื่นเต้นคือ การล่องแพยางไปตามลำน้ำว้าตอนบน

อุทยานแห่งชาติดอยภูคาเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่มากที่สุดในภาคเหนือของไทย คือ กว้างใหญ่ถึง 1,704 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นป่าอนุรักษ์ที่ทรงคุณค่าในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำตะวันออก

กระโถนพระฤาษี (Sapria himalayana) พันธุ์ไม้เบียนรากที่พบได้ไม่ยากในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ “ชมพูภูคา”
กล้วยไม้น้ำ (Epipactis flava) พันธุ์ไม้หายากที่พบขึ้นบริเวณโขดหินริมลำน้ำว้า

ดอยภูคา เป็นพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยซึ่งสำรวจพบพันธุ์ไม้หายากระดับโลกถึง 2 ชนิด คือ ชมพูภูคาและเต่าร้างยักษ์ สำหรับต้นชมพูภูคานั้นในอดีตเคยพบมากในผืนป่าพรมแดนระหว่างจีนและเวียดนาม แต่ภายหลังป่าบริเวณดังกล่าวถูกทำลายไปหมด จึงเชื่อกันว่าชมพูภูคาสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว จนเมื่อ พ.ศ.2532 ดร.ธวัชชัย สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ในขณะนั้นได้สำรวจพบชมพูภูคาอีกครั้งบนดอยแห่งนี้ มีลักษณะเป็นไม้ต้น ความสูงราว 25 เมตร ชอบขึ้นอยู่ตามไหล่เขาชันในป่าดงดิบเขาที่ความสูงประมาณ 1,500 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ช่อดอกสีชมพูสดเป็นเอกลักษณ์จะบานสะพรั่งในทุกๆ ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

เต่าร้างยักษ์ภูคา (Caryotaobtusa) หนึ่งในความหลากหลายของสายพันธุ์เฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบเฉพาะบนดอยภูคาแห่งเดียวเท่านั้น

ส่วนเต่าร้างยักษ์ภูคานั้น เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ปาล์มที่ชอบอาศัยอยู่ในนิเวศป่าดงดิบ พบได้เฉพาะตามลาดไหล่เขาชัน ระดับความสูง 1,500-1,700 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง เมื่อโตเต็มที่ปาล์มโบราณชนิดนี้จะสูงได้ถึง 40 เมตร และมีใบรูปขนนกแตกเป็นแฉก ขนาดใหญ่โดดเด่น แผ่นใบยาวได้ถึง 4 เมตร จัดเป็นปาล์มที่หายาก
และใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลก

ว่านไก่แดง (Aeschynanthus sp.) ไม้อิงอาศัยดอกสวย ออกดอกในช่วงหน้าฝน

ปัจจุบันผู้มาท่องเที่ยวสามารถชมพันธ์ไม้ 2 ชนิดนี้ได้ในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยภูคา ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร หรือขับรถไปชมได้บริเวณริมถนน ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจ อย่างเช่น ก่วมภูคา ที่เป็นพืชถิ่นเดียวที่พบที่ดอยภูคา และยังมีพรรณไม้เฉพาะถิ่น/หายาก เช่น ชิงชี่ภูคา กระดิ่งภูคา เศวตแดนสรวง

การเดินทาง ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถเช่าจากตัวจังหวัดน่าน ไปตามทางหลวงสายน่าน-ปัว ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร เมื่อถึงอำเภอปัวจะมีป้ายบอกทางไปอุทยานแห่งชาติดอยภูคา (เส้นทางปัว-บ่อเกลือ) ประมาณ 25 กิโลเมตร จนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

ที่มา.. หนังสือที่สุดอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย สำนักอุทยานแห่งชาติ (ISBN 978-616-316-504-6)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด