การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน เป็นปัญหาเร่งด่วนของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบ ซึ่งได้มีการดำเนินการตาม “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์” ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งสอดคล้องกับ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการสำรวจการถือครอง แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 240 วัน ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์เพื่อประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2562 และตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง โดยมี ผู้บริหาร พร้อมด้วยหัวหน้าป่าอนุรักษ์ที่มีพื้นที่ดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
นายอนันต์ ปิ่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สำรวจการถือครองในพื้นที่ 227 ป่าอนุรักษ์ มีราษฎรถือครองที่ดิน จำนวน 316,560 ราย 468,256 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4,273,726 ไร่ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะได้ดำเนินการตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ได้เขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ นำเสนอเพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยประโยชน์สูงสุดของกฎหมายฉบับนี้คือให้ราษฎรสามารถอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับราษฎรในการตรวจสอบและชี้แนวเขตในครั้งนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญ จึงได้จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในแนวทางการดำเนินการเพื่อกำหนดเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือยืนยันให้ราษฎรเห็นว่า สามารถแก้ไขปัญหาที่ดิน อันเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งมานาน ให้สำเร็จได้ตามกฎหมายที่กำหนดต่อไป
ทีมข่าว DNPnews กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงาน