• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าภูเขียว เปิดตัวสมาชิกใหม่ ‘ไวท์’ ลูกกวางเผือก น้องสาว ‘เจ้าด่อน’

นับเป็นข่าวดีของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวหลังเจ้าหน้าที่พบสมาชิกใหม่เป็น ลูกกวางเผือก เพศเมีย เพราะมีสีขาวนวลทั้งตัว เจ้าหน้าที่จึงตั้งชื่อให้ว่า “ไวท์” โดยมีเชื้อเผือกเหมือนกับ “ด่อน”นั่นเอง “ไวท์” มีอายุ 5- 6 เดือน เป็นน้องสาวของเจ้าด่อน ปกติจะหลบอยู่ชายป่า ล่าสุดไวท์ได้เดินออกมาอวดโฉม และออกมาหากินใกล้ ๆ สำนักงาน เมื่อเดินด้วยกันเทียบกับน้องด่อนแล้ว ทั้งสองเหมือนคู่แฝดกันเลยทีเดียว

การพบเจอกวางเผือกถึงสองตัว ที่เป็นพี่น้องกัน สร้างความยินดีให้เจ้าหน้าที่และผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากการที่ลูกกวางเผือกจะถือกำเนิดขึ้นได้นั้น มีความเป็นไปได้น้อยมาก สำหรับกวางเผือก ลักษณะทั่วไปเหมือนกวางธรรมดา แต่มีสีขาวปลอดทั้งตัว และตาสีแดง ทั้งนี้หากอยากพบเจอกวางเผือกคู่นี้ สามารถมาชมความน่ารักกันอย่างใกล้ชิดได้ ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ

กวางเผือก เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันกับกวาง ธรรมดา กวางเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกีบคู่ เรียกตามชื่อพื้นเมืองของอินเดีย ว่า กวางม้า เพราะมีขนาดไล่เลี่ยกับม้าอาศัยอยู่ได้ทั้งในป่าทึบ ป่าโปร่งและชายป่าที่มีทุ่งหญ้าสลับกันไป ชอบหากินทั้งอยู่เดี่ยว ๆ และอยู่เป็นกลุ่ม เป็นฝูง เป็นสัตว์ที่มีการระวังภัยสูงมากจึงมีอาการตื่น กลัวและระมัดระวังอันตรายจนเป็นนิสัยตลอดเวลา สามารถได้ยินเสียงต่าง ๆได้ดี สามารถดม กลิ่นและมีประสาทสัมผัสว่องไว ทำให้สามารถหลบหลีกจากการถูกล่าในฝูงสัตว์ป่าด้วยกันได้ดี

อาหารที่สำคัญของกวาง คือ ใบไม้ ต้นไม้อ่อน หญ้าต่างๆ เปลือกไม้บางชนิด ผลไม้และหน่อพืชต่างๆนอกจากนี้ก็กินดินโป่ง ซึ่งมีแร่ธาตุจำเป็นเพื่อให้เขาเจริญเติบโตและแข็งแรง อาหารที่กวางป่าชอบมาก ได้แก่ หญ้า ระบัด ซึ่งเป็นหญ้าอ่อนที่งอกขึ้นใหม่หลังจากที่ไฟไหม้แล้ว จะอยู่รวมกันเป็นฝูง ออกหากิน พร้อมๆกัน คอยช่วยระวังภัยให้แก่กัน

กวางตัวเมียจะตั้งท้องประมาณ 8 เดือน และออกลูก 1 ตัวเป็นส่วนใหญ่ ลูกกวางที่ คลอดใหม่ๆหลังจากดูดนมแม่แล้วในเวลาประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงแรกก็จะแยกตัวออกไปนอน นิ่งอยู่ในพงหญ้า หรือบริเวณที่มีกิ่งไม้ ใบไม้รกทึบ ในขณะเดียวกันแม่กวางก็จะมาให้ลูกกินนม เป็นครั้งคราวตลอดในช่วงเวลา 1 – 2 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการพรางตัวจากสัตว์อื่นๆไม่ให้ สังเกตเห็น และแม่กวางจะออกไปหากินภายในรัศมีไม่ไกลจากที่ลูกของมันนอนนิ่งอยู่ ภายหลัง จากลูกกวางอายุได้ 2 – 3 สัปดาห์ ซึ่งมีความแข็งแรงมากขึ้นจึงสามารถเดินตามแม่ไปเข้าฝูง ต่อไปได้ กวางมีสถานภาพทางกฏหมายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด