• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รมว.ทส. แถลงความก้าวหน้าแก้ไขปัญหาแก่งกระจาน มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อเนื่อง

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานแถลงข่าวเรื่องความก้าวหน้าการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนกระเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน โดยมี นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชั้น 1 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในบ้านบางกลอย จากปี 2539 ถึงเดือนมีนาคม – เมษายน 2564 พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 400 คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกว่า 20 หน่วยงาน ได้เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ และเสริมสร้างสุขอนามัย รวมถึง วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ในปี 2564 และในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 (COVID – 19) หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชากรในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสำรวจที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎรบ้านบางกลอย การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลสำหรับการบริโภค โดยการสำรวจและขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติมและก่อสร้างระบบประปาบาดาลสำหรับการบริโภคในพื้นที่ พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ รวมถึง จุดบริการน้ำดื่มสะอาดผ่านระบบน้ำ RO (Reverse Osmosis) สำหรับชุมชน มีกำลังการผลิตได้สูงสุดวันละ 20,000 ลิตร/วัน และเปิดใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 การจ้างแรงงานในชุมชนกะเหรี่ยง เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในตำแหน่งงานต่าง ๆ เช่น การจ้างแรงงานทั่วไป พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานในหน่วยไฟป่า และแรงงานสำรวจแหล่งน้ำเบื้องต้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.5 KW การจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินรวม 80 ไร่ ของราษฎร 8 ราย การสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนออกแบบการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ถังน้ำ และแนวท่อส่งน้ำเพื่อสนับสนุนแปลงสาธิต โดยสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี การขยายระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมกองทุนต่างๆ ของชุมชน โรงสีกาแฟ พัฒนากิจกรรมต่อเนื่องเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม การถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกร และพัฒนากิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนโดยการแจกเครื่องอุปโภค บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงสิทธิในความมั่นคงและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ดำเนินการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่ และระงับข้อพิพาท โดยในปี 2562 มีการจัดตั้งคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง (PAC) และแต่งตั้งผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอย เป็นกรรมการของ PAC ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยได้มีการแต่งตั้งให้ผู้แทนชุมชนกะเหรี่ยง ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคม และผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งรวมถึงพื้นที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีกระบวนรับฟังความคิดเห็นและมีการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงองค์กร IUCN ประจำประเทศไทยด้วย ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ในปี 2562 ที่ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง 2) การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน และ 3) การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการครบถ้วนตามข้อมติแล้ว

นายวราวุธ กล่าวย้ำว่า ไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของชุมชนกะเหรี่ยงที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาโดยตลอด และได้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาแหล่งมรดกทางธรรมชาติ เพื่อทราบแล้ว ทั้งนี้ การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะมีขึ้นในการประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในระหว่างวันที่ 16 – 31 กรกฎาคม 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด