• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง เผยภาพ ‘นกหัวขวานใหญ่สีดำ’ อวดโฉมนักดูนกที่ทุ่งกิ๊ก

วันที่ 22 กุมภาพันธ์​ 2565 นายมัญญา​ นาค​พน​ หัวหน้า​อุทยาน​แห่งชาติ​แม่ปิง​ เปิดเผยว่า ช่วงนี้บรรยายกาศที่หน่วยพิทักษ์​อุทยาน​แห่งชาติ​แม่ปิง ที่ มป.3 (ทุ่ง​กิ๊ก)​ มีนกหลายหลายชนิดมารวมตัวอวดโฉมให้บรรดานักดูนกได้เก็บภาพกันโดยพบเห็นได้ง่ายตามระหว่างทางสามารถพบเห็น​ได้ง่ายและเห็นนกได้ชัดมาก โดยนกที่พบได้แก่ นกหัวขวานใหญ่สีดำ (White-bellied Woodpecker) นกเหยี่ยวแมลงปอและนกอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะนกหัวขวานใหญ่สีดำที่เป็นสัญลักษณ์ตราประจำของอุทยานแห่งชาติแม่ปิง โดยนกหัวขวานใหญ่สีดำมักเจาะรูทำรังค่อนข้างสูงบนไม้ยืนต้นตาย ขนาดตัวที่ใหญ่โตทำให้จำเป็นต้องใช้ต้นไม้ขนาดใหญ่ตามไปด้วย แม้จะทำรังอยู่สูงแต่ก็ชอบหากินไม่สูงจากพื้นมากนัก บ่อยครั้งพบหากินบริเวณจอมปลวกหรือต้นไม้ขนาดเล็กใกล้พื้นดิน มักพบนกหัวขวานใหญ่สีดำโดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ มันเป็นนกที่มีนิสัยค่อนข้างขี้ตื่นและหวาดระแวงตลอดเวลา ยามรู้สึกไม่ปลอดภัยจะร้องเตือนภัยทันที นกหัวขวานใหญ่สีดำมีลำตัวสีดำตัดกับท้องสีขาว ขณะกระพือปีกจะเห็นแถบวงกลมสีขาวขนาดใหญ่ เพศเมียมีหงอนที่ท้ายทอยสีแดง ส่วนเพศผู้มีสีแดงตั้งแต่หน้าผากติดกับโคนปาก และมีแถบเคราสีแดง

นกหัวขวาน เป็นนกวงศ์หนึ่ง ในอันดับนกหัวขวานและนกโพระดก (Piciformes) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Picidae เป็นนกที่มีสามารถไต่ขึ้นลงตามต้นไม้ได้ดีเป็นแนวตั้ง ด้วยขาที่สั้น และเล็บที่แหลมคม ส่วนใหญ่มีนิ้วหน้า 2 นิ้ว นิ้วหลัง 2 นิ้ว (ขณะที่บางชนิดจะมีเพียง 3 นิ้ว หรือบางชนิดก็มีนิ้วยื่นไปข้างหน้า) เล็บมีความคมและแข็งแรง หางมักจะแข็งมากและเป็นรูปลิ่ม ใช้ช่วยยันต้นไม้ขณะไต่ขึ้นลงตามลำต้น นกหัวขวานเป็นนกประเภทอยู่รู หรืออยู่อาศัยตามโพรงไม้ ตามปกติแล้วมักจะเลือกสถานที่ทำรังโดยใช้จะงอยปากที่แข็งแรงเจาะต้นไม้จนเป็นโพรงใหญ่ ขนาดที่ตัวของนกเองจะเข้าออกได้อย่างสะดวก นกหัวขวานเป็นนกที่ปกติจะอาศัยอยู่เพียงลำพัง ไม่มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงเหมือนนกอื่น ๆ ถ้าหากมีนกอื่นรุกล้ำเข้ามา จะส่งเสียงร้อง “แก๊ก ๆ ๆ” ดังกังวาลเพื่อเตือน อย่างไรก็ตาม ตัวเมียก็มีส่วนช่วยเลือกสถานที่ทำรังเหล่านี้ด้วย ส่วนมากมักชอบไม้เนื้ออ่อน ซึ่งในฤดูแล้ง ต้นไม้เหล่านี้จะทิ้งใบ แต่บางครั้งจะทำรังตามต้นไม้แห้ง ๆ หรือต้นมะพร้าวหรือต้นปาล์ม

จุดเด่นของนกหัวขวานก็คือ สามารถใช้จะงอยปากที่แหลมยาวและแข็งแรงเหมือนลิ่ม เจาะลำต้นของต้นไม้ใหญ่ประเภทไม้ยืนต้นจนเป็นรูหรือเป็นโพรงได้เป็นอย่างดี ขณะที่เจาะต้นไม้อยู่นั้นจะได้ยินเสียงกังวาลไปไกลเป็นเสียง “ป๊อก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ” เพื่อที่จะหาหนอนและแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้และเนื้อไม้กินเป็นอาหาร ด้วยการใช้ลิ้นและน้ำลายที่เหนียวดึงออกมา ลิ้นของนกหัวขวานเมื่อยืดออกจะยาวมาก โดยลิ้นนี้จะถูกเก็บไว้โดยการพันอ้อมกะโหลก แล้วเก็บปลายลิ้นไว้ที่โพรงจมูกด้านใน ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นผลดีต่อต้นไม้ที่ช่วยกำจัดหนอนแมลงที่รบกวนได้ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จนได้รับฉายาว่า “หมอรักษาต้นไม้”

แต่ในทางตรงกันข้าม การเจาะต้นไม้เช่นนี้ก็ทำการทำลายความแข็งแรงของเนื้อไม้ได้ด้วย เนื่องจากนกหัวขวานไม่ได้เจาะต้นไม้ที่มีชีวิตอย่างเดียว แต่กับไม้แปรรูป เช่น เสาไฟฟ้าที่ทำจากต้นไม้ก็ถูกเจาะได้เช่นกัน และถูกเมื่อเจาะหลาย ๆ ที่ก็เป็นโพรงที่ทำให้แมลงหรือสัตว์อื่นเข้าไปอยู่อาศัยและทำลายเนื้อไม้ได้ นกหัวขวานมีพฤติกรรมการวางไข่ที่แปลก กล่าวคือ หลังจากออกไข่แล้ว ตัวผู้จะเป็นฝ่ายเข้ากกไข่และเลี้ยงดูลูกอ่อนเป็นหลัก โดยมีตัวเมียมาช่วยบ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม นกหัวขวานมักจะมีโพรงอยู่เป็นประจำ คือ โพรงใดของตัวใดตัวหนึ่ง เมื่อเวลาพลบค่ำ ก็บินกลับมานอนในโพรงต่าง ๆ เหล่านี้ ตามปกติ นกหัวขวานตัวหนึ่ง ๆ มักจะมีโพรงที่อาศัยนอนเช่นนี้ 2-3 แห่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากสิ่งอื่นที่มารบกวน

#ขอบคุณ​เครดิต​ภาพจาก Facebook ​: Supachai Katiyasurin

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด