โรคลัมปี สกิน หรือโรค LSD จัดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในไทยมาก่อน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในโคกระบือ เกิดจากแมลงพาหะ เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน หรือการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ 2-5 ซม. ขึ้นบริเวณผิวหนังทั่วร่างกาย จากนั้นตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ด และเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ทำให้สัตว์น้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือก และอาจตายในที่สุด
จากสถานการณ์ดังกล่าว นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยกำหนด พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า ได้แก่ พื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ป่ามรดกโลกเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น และพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลัมปี สกิน และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่น ๆ
นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่าที่ผ่านมาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบกระทิงป่วยและเสียชีวิตยืนยันด้วยโรคไวรัสลัมปี สกิน (Lumpy skin disease:LSD) ครั้งแรกในประเทศ จำนวน 1 ตัว จึงได้ทำการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน และเป็นการยกระดับการปกป้องคุ้มครองในฐานะพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ โดยการลงพื้นที่และร่วมกำหนดมาตรการกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
ด้าน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า จากการดำเนินการตามมาตการของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่มีรายงานการระบาดโรคลัมปี สกิน ในประเทศ ที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ พบกระทิงที่จัดกลุ่มเป็นสัตว์ป่ายืนยัน 1 ตัว และสัตว์ป่วยสงสัยจำนวนหลายตัว กระจายอยู่ในแต่ละฝูงแต่ละพื้นที่ อัตราการป่วยอยู่ที่ 4-45% โดยเฉพาะในลูกกระทิงและกระทิงที่ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมาได้ส่งตรวจอย่างส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ตัว เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า 6 ตัว ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัสลัมปี สกิน ส่วนที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี 3 ตัว พบผลบวก 1 ตัว อีก 1 ตัวไม่พบ และอีก 1 ตัวยังรอผล
กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก นอกเหนือจากการทำวัคซีนในปศุสัตว์ งดการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง การป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ การจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งข้อมูลในการรักษาสัตว์เลี้ยงพบว่า เมื่อพบสัตว์ที่ป่วย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม อัตราการรอดชีวิตสูง จึงได้เตรียมพร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ เพื่อเข้ารักษาทันที หากพบตัวที่ป่วยหนักอยู่ในป่า รวมถึงการทำแหล่งดินโป่งที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช และเพิ่มวิตามิน A D E และ Selenium เพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล และเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนก้อนแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ จำนวน 2 ตันจากบริษัท ภัสร์-ฟาร์ม จำกัด พบกระทิงและวัวแดง รวมถึงช้างป่า จำนวนมาก ลงมากินและใช้ทันทีหลังจากดำเนินการ
เมื่อเร็วๆ นี้ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เติมคลังยา เพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปี สกิน จำนวน 3 จุด ได้แก่ ได้แก่ หน่วยพิทักษ์ห้วยคมกฤษ และบริเวณข้างแหล่งน้ำอีก 2 แห่ง พบกระทิงและช้างป่าลงมาใช้ ส่วนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เติมคลังยาทั้งหมด 12 แหล่งพร้อมทั้งติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพด้วย ได้แก่ จุดที่ 1 แปลงหญ้าปศุสัตว์ทางเข้าบ่อ 5 พบกระทิงจำนวน 12 ตัว จุดที่ 2 บ่อ 5 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว จุดที่ 3 แปลงหญ้า WWF ทางเข้าบ่อ 8 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว จุดที่ 4 สระป่าสนไฟไหม้ พบกระทิงจำนวน 4 ตัว จุดที่ 5 แปลงหญ้า 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 14 ตัว และวัวแดงจำนวน 3 ตัว จุดที่ 6 แปลงหญ้าสยามไวน์ / บ่อช้างใหม่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว จุดที่ 7 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 7 ตัว จุดที่ 8 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 12 ตัว และวัวแดงจำนวน 1 ตัว จุดที่ 9 แปลงหญ้าโป่งสลัดได พบกระทิงจำนวน 1 ตัว จุดที่ 10 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว จุดที่ 11 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 3 ตัว จุดที่ 12 แปลงหญ้าสยามไวน์ / ต้นมะค่าโมง พบกระทิงจำนนวน 4 ตัว จากการตรวจสอบภาพพบกระทิงจำนวน 66 ตัว และวัวแดงจำนวน 4 ตัว ที่สงสัยว่ามีร่องรอยของโรคลัมปี สกิน
ผลจากการดำเนินการ ติดตาม พบกระทิงออกมาหากินจำนวนมาก ออกมากินแร่ธาตุ วิตามิน หลังจากที่ทำไว้ 1 คืน สามารถถ่ายรูปและประเมินสุขภาพได้ง่าย มีบางตัวพบรอยโรคที่ไม่รุนแรง บริเวณสะโพกทั้งสองข้าง ยังไม่พบการแพร่กระจายหรือแตกของตุ่มรอยโรค ตุ่มรอยโรคลัมปีสกิน ตามนิยามที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มนูนแข็งขนาด 2-5 เซนติเมตร และแตกเป็นแผล อาจตกสะเก็ด หรือติดเชื้อขึ้นมา โดยในสัตว์ป่ามีปัจจัยป้องกันตัวเองจากการติดต่อโรคที่นำโดยแมลงได้แก่
-
- ห่วงโซ่ป้องกัน ผู้ปัดเป่า จิกกิน กระทิงทุกฝูง และแทบจะทุกตัว มีนกเกาะและเดินตามดั่งผู้อารักขาความปลอดภัย นกเหล่านี้ เช่น นกเอี้ยง นกกระยาง ก็จะคอยจิกกินแมลงต่างๆที่เกาะตามตัวกระทิง เป็นระบบพึ่งพาที่ช่วยป้องกันพาหะนำโรคที่ดูน่ารักดี
- นิเวศน์ป้องกัน กระทิงอยู่ในทุ่งหญ้า ที่โล่ง เวลามีแมลงมากัดหรือเกาะก็จะตกใจ ก็วิ่ง เป็นการหนีแมลงไม่ให้มาเกาะ โอกาสได้รับเชื้อซ้ำๆจากแมลงที่มากัดก็จะน้อย (หากเป็นสัตว์ที่อยู่ในคอก ไปไหนไม่ได้ โอกาสที่ถูกรุมกัดบ่อยๆจนได้รับเชื้อไวรัสซ้ำๆ รอยโรคมาก อาการก็จะรุนแรง)
- กายวิภาคป้องกัน สัตว์กีบ จำพวกวัว ควาย กระทิง วัวแดง จะมีกล้ามเนื้อที่คอยสั่นและกระตุก คือกล้ามเนื้อ cutaneous trunci ที่จับกับผิวหนังทำให้ผิวหนังเคลื่อนไหวได้ เวลาที่มีแมลงมาเกาะ ซึ่งเป็นป้องกันและไล่แมลงทางสรีระวิทยาที่อัศจรรย์
- ห้องพยาบาล คือแหล่งดินโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์กินพืชที่สำคัญ อย่างที่เรารู้กัน แต่รู้ไหมครับว่า ในดินโป่งที่ประกอบไปดินเกลือแร่ แร่ธาตุต่างๆมากมาย จะเป็นตัวไล่แมลงและพยาธิภายนอกได้ จากการลงไปถูตัว และเกลือเหล่านี้ก็ยังช่วยรักษาบาดแผลต่างได้เป็นอย่างดี
- สปาบำบัด ปลัก แหล่งน้ำ เป็นอีกจุดหนึ่งในป่าที่สัตว์สามารถเอาดินโคลนมาพอกให้หนา เพื่อกันแมลงกัน สร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ตรงไหนที่มีแหล่งน้ำ ที่ลึกท่วมถึงหลัง ก็ช่วยในการหลีกหนีการกันของแมลงนำโรคได้เช่นกัน โดยปัจจัยเรื่องฝนตก ก็ส่วนหนึ่งในการป้องกันด้วยเช่นกัน’
- อิสระกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กระทิง วัวแดง ควายป่า ที่อยู่ในสถานที่ธรรมชาติ กว้างขวาง ปลอดภัย ปราศจากการคุกคามด้านต่างๆ ความเครียดในการดำรงชีวิตก็จะน้อย หากเทียบกับสัตว์ที่ถูกอยู่ในพื้นที่แคบหรือจำกัด ซึ่งเมื่อร่างการเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง โอกาสติดเชื้อจากแมลง จนเกิดเป็นรอยโรคและอาการป่วยก็จะมากขึ้น
- คลังยาที่ซ่อนอยู่ พืชอาหารบางชนิด กินในสภาวะปกติ และในบางสภาวะที่ร่างกายผิดปกติ พืชบางชนิดก็เป็นสิ่งจำเป็น นั่นหมายถึงเมื่อเวลาสัตว์ป่า บาดเจ็บหรือป่วย ก็มักจะกินพืชอาหารในป่าหลากหลายชนิดเพื่อเป็นสมุนไพรรักษาตัวเอง
- ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นการป้องกันพื้นฐานที่สัตว์ป่ามี เมื่อมีแมลงมาเกาะหรือกัดจนเจ็บและเกิดความรำคาญ ก็มีจะเห็นกระทิงมาใช้ปากเลียตามตัว ลิ้นกระทิงจะสากมาก ทำความสะอาดตัว เลียแผล ไล่แมลงให้กันเอง บางครั้งก็เอาตัวมาเบียดถูกกัน ป้องกันแมลงให้กัน โดยเฉพาะในลูกกระทิง ที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด
- ห้องน้ำที่กว้างใหญ่ และมีระบบกำจัดที่ดี เป็นการลดการหมักหมมของมูลและฉี่ เพราะเดินกินไปก็อึไป กระจายไปเป็นปุ๋ย จุลินทรีย์ย่อยสลายและแสงแดดทำให้แห้ง โอกาสทับถมของกองมูล ซึ่งเป็นแหล่งรวมของแมลงนำโรคก็น้อยลง
- Wax ที่เคลือบผิวหนังกระทิง เป็นน้ำมันสีดำ จับแล้วจะเป็นสีดำติดมืออุ่นๆ เป็นตัวช่วยให้ความอบอุ่นของกระทิงในช่วงอากาศหนาว ลดการเสียดสี เกิดบาดแผล จากการเดินไปป่าที่รกมีหนาม ผิวหนังกระทิงที่เราเห็นเป็นมันวาว ถ้าเอามือถู จะเป็น wax ลื่นๆติดมือ โอกาสที่แมลงบางชนิดมาเกาะก็จะลื่น ยังไม่รวมถึงการขึ้นของขนกระทิงที่ผิวหนัง ในบางช่วงฤดู เช่น หน้าหนาว ขนจะขึ้นหนาแน่นมากกว่าหน้าร้อน เพื่อผลในการระบายความร้อนให้กับร่างกาย
อย่างไรก็ตามจากการประเมินระยะฟักตัวของโรคใน 28 วัน หลายพื้นที่ยังไม่พบรายงานการพบซากสัตว์ป่าหรือเสียชีวิต ซึ่งในแต่ละพื้นที่ได้ติดตามความรุนแรงของรอยโรคที่เพิ่มขึ้นของสัตว์ที่และการแพร่กระจายรอยโรคของสัตว์ในฝูงว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเวลานี้ระยะเวลาที่มีรายงานการระบาดในประเทศ 5 เดือน รายงานการเกิดโรคในกระทิงผ่านมาแล้ว 3 เดือน
นอกจากจะมีการเฝ้าระวังและติดตามในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นแล้ว จะได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อเป็นการเสริมมาตรการป้องกันโรคในสัตว์ป่าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงจะได้มีการเตรียมแผนที่จะสำรวจโรคโรคลัมปีสกิน เชิงรุกด้วยการสุ่มเก็บตัวเลือด ตัวอย่างรอยแผลชิ้นเนื้อจากกระทิง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประกอบผลการสืบสวนโรคต่อไป