• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ไทย – ลาว จับมือถ่ายทอดศาสตร์การสตัฟฟ์สัตว์ป่า พัฒนาวงการอนุรักษ์อาเซียน

นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) (สบอ.9) พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.9 และด่านตรวจสัตว์ป่ามุกดาหาร ได้เดินทางไปยังแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อร่วมเปิดมิติใหม่แห่งการอนุรักษ์ข้ามพรมแดน ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการสตัฟฟ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
โดยทางศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าอุบลราชธานี ได้สาธิตการสตัฟฟ์ละมั่งเพศผู้ 1 ตัว อย่างละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะทางระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งสองประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการอนุรักษ์สัตว์ป่าในภูมิภาค สนับสนุนในการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์ป่า เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่า และเพื่อต่อยอดงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับวางรากฐานความร่วมมือด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในระดับภูมิภาคต่อไป

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการสตัฟฟ์สัตว์ป่าช่วยสนับสนุนองค์ความรู้แก่การอนุรักษ์สัตว์ป่าในหลายมิติ ดังนี้

1. มิติด้านการศึกษา

สร้างสื่อการเรียนรู้ที่จับต้องได้ เปิดโอกาสศึกษาสัตว์ป่าในระยะใกล้ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ผ่านประสบการณ์ตรง และสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่

2. มิติด้านการวิจัย

เพื่อเป็นตัวอย่างอ้างอิงทางวิชาการ สำหรับศึกษาสัณฐานวิทยาเชิงลึก ในการบันทึกข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านสัตววิทยา

3. มิติด้านการอนุรักษ์
เพื่อเป็นเก็บรักษาตัวอย่างสัตว์ป่าหายาก สร้างความตระหนักถึงคุณค่าสัตว์ป่า กระตุ้นการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และเพื่อสืบสานมรดกทางธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 กล่าวว่า “การถ่ายทอดองค์ความรู้ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการแบ่งปันเทคนิคการสตัฟฟ์สัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการวางรากฐานความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ระหว่างประเทศที่จะเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต เราเชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เช่นนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ระหว่างไทย-ลาว ที่จะเป็นต้นแบบให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และเป็นการยืนยันถึงศักยภาพของบุคลากรไทยในการเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในระดับนานาชาติ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด