• ส่วนประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ • สำนักบริหารงานกลาง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

เจ้าหน้าที่ 5 หน่วยงานบูรณาการลุยป่าลึกแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รวบผู้ต้องชาวกัมพูชาพร้อมไม้มะค่าโมง-อาวุธครบมือ

21 มีนาคม 2568 – นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เปิดเผยว่า​ เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ร่วมจับกุมชาวกัมพูชาขณะลักลอบตัดไม้มะค่าโมงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ห่างจากชายแดนเพียง 1.5 กิโลเมตร​ ผลการจับกุมสามารถยึดทั้งไม้แปรรูป อาวุธปืน เลื่อยโซ่ยนต์ และอุปกรณ์ครบชุด ปฏิบัติการพิเศษครั้งนี้เป็นผลจากนโยบายปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้อย่างเฉียบขาดของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้มีการลาดตระเวนเชิงรุกในพื้นที่ล่อแหลมทุกจุดโดยเฉพาะแนวชายแดนที่มีปัญหาการลักลอบตัดไม้มีค่ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับมาตรการป้องกันและปราบปรามในพื้นที่ชายแดนให้เป็นรูปธรรม โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมอบนโยบายให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารแบบไร้รอยต่อ​

การปฏิบัติการลาดตระเวนเชิงลึกครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มีนาคม 2568 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก 5 หน่วยงานหลัก​ รวมกำลังกว่า 56 นาย​ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี กองร้อยทหารพรานที่ 2609 และตำรวจตระเวนชายแดนที่ 224 โดยใช้ยุทธวิธีลาดตระเวนแบบ Smart Patrol ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ​ในพื้นที่​ และได้มอบหมายกำลังพลที่มีประสบการณ์สูงในพื้นที่ป่าเขาและมีความคุ้นเคยกับภูมิประเทศแนวชายแดน เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา เล่าถึงเหตุการณ์จับกุมว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากเครือข่ายในพื้นที่และสังเกตร่องรอยผิดปกติ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 เวลา 15.30 น. เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุม นายโจ (สฃวนนามสกุล)​ อายุ 22 ปี ชาวกัมพูชา จากบ้านโตด ตำบลเวียงคะนาย อำเภอภูมิโตน จังหวัดกัมโปด ขณะกำลังตัดและแปรรูปไม้มะค่าโมงในป่าพนมพรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา​ ระหว่างปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังสูงสุด เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุเป็นป่าลึก ภูมิประเทศสูงชัน มีความเสี่ยงจากทุ่นระเบิดและการเผชิญหน้ากับทหารกัมพูชา​ ของกลางที่ยึดได้ประกอบด้วย ไม้มะค่าโมงแปรรูป ปริมาตร 0.028 ลูกบาศก์เมตร อาวุธปืนแก๊ปยาวแบบประจุปาก เลื่อยโซ่ยนต์ มีด ขวาน ไฟฉายคาดหัว และเปลนอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาได้เตรียมการมาอย่างดี วางแผนพักค้างในป่าเพื่อตัดไม้ให้ได้ปริมาณมาก

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา 6 ข้อหา ได้แก่
1. ฐานเก็บหา นำออกไป หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือเสื่อมสภาพซึ่งไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และฐานเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาต ตามมาตรา 53 และ 55(5) แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
2. ฐานทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
3. ฐานทำไม้หวงห้าม แปรรูปไม้หวงห้าม และมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 11 และ 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
4. ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545
5. ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนและเครื่องกระสุนฯ พ.ศ.2490
6. ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านช่องทาง ด่านตรวจ เขตท่า สถานีที่ทางราชการกำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาต

เนื่องจากเหตุเกิดในป่าลึกตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีภูมิประเทศสูงชัน เป็นป่ารกทึบ อีกทั้งยังมีสนามทุ่นระเบิดและทหารกัมพูชาเคลื่อนไหว เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เวลาในการนำตัวผู้กระทำผิดและของกลางออกมาดำเนินคดี โดยสามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานสอบสวน สภ.ขุนหาญ ได้ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 เวลา 22.00 น.

การจับกุมครั้งนี้แม้จะได้ผู้กระทำผิดเพียงรายเดียว แต่ส่งผลสะเทือนถึงเครือข่ายทั้งหมด​ เนิ่องจากพื้นที่ชายแดนแห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทั้งในด้านความมั่นคงและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากสถิติพบว่ามีการลักลอบตัดไม้พะยูงและไม้มีค่าอื่นๆ ในพื้นที่นี้มากกว่า 50 คดีในรอบสองปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศรวมมูลค่าหลายล้านบาท

สำหรับปฏิบัติการลาดตระเวนครั้งนี้ครอบคลุมระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรตามแนวชายแดน ตั้งแต่ช่องโดนโป (พลาญตากผ้า) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ไปจนถึงหน่วยพิทักษ์ป่าทะนำเจ็น เจ้าหน้าที่ได้วางกำลังอย่างรัดกุม มีการแบ่งชุดปฏิบัติการทั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว ชุดสนับสนุน และชุดสกัดกั้น ทำให้ภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย​

นายพิชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปฏิบัติการครั้งนี้นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงและการอนุรักษ์ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ชายแดนซึ่งเป็นสมบัติของชาติ​ โดยจากนี้จะมีแผนปฏิบัติที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดแนวชายแดน เพื่อป้องปรามกลุ่มผู้ลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อทั้งระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงของประเทศในระยะยาวต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด